คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14863/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมผู้ร้องกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุ 55 ปี พนักงานหญิงเมื่ออายุ 45 ปี ต่อมาสหภาพแรงงานทอผ้า ม. ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของผู้ร้องและผู้ร้องต่างแจ้งข้อเรียกร้อง จนมีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุ 47 ปี แม้การทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จะเกิดขึ้นจากเสรีภาพในการเจรจาต่อรอง แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำกันขึ้นนั้นจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานทอผ้า ม. เข้าร่วมเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในส่วนที่กำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 47 ปี แตกต่างจากกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุครบ 55 ปี โดยไม่ปรากฏว่าลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกัน จึงเป็นการปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 15 ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ผู้ร้องจึงต้องให้ผู้คัดค้านเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เท่าเทียมกับลูกจ้างชาย กรณีจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้เลิกจ้างผู้คัดค้านตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเกษียณอายุได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อมาผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเช่นกัน ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้แทนเจรจาของสหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรผลการเจรจาเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อ 47 ปี (โดยถือเอาวันสิ้นเดือนในเดือนเกิด) แล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ได้กลั่นแกล้งผู้คัดค้าน แต่ผู้ร้องได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ ทั้งผู้คัดค้านเองเป็นผู้แทนสหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรในการเจรจาย่อมทราบและเข้าใจข้อตกลงเกี่ยวกับการเกษียณอายุพนักงานดี เมื่อตัวทราบแต่แรกทั้งได้เป็นผู้แทนเจรจาข้อตกลงจนทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและมีผลใช้บังคับเอาตลอดมา ภายหลังจะมาอ้างว่าข้อตกลงเป็นโมฆะ จึงไม่อาจอ้างได้ กรณีมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
มีปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านประการเดียวว่า ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างผู้คัดค้านตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเกษียณอายุหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า เดิมผู้ร้องกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่ออายุ 55 ปี และพนักงานหญิงเมื่ออายุ 45 ปี ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ต่อมาสหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในกิจการของผู้ร้องและผู้ร้องต่างแจ้งข้อเรียกร้องต่อกัน ซึ่งสามารถตกลงกันยุติข้อพิพาทแรงงานและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกันไว้ โดยในข้อ 5 เรื่องการเกษียณอายุตกลงกำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุ 47 ปี (โดยถือเอาวันสิ้นเดือนในเดือนเกิด) นั้น เห็นว่า ในการจัดทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แม้นายจ้างหรือสมาคมนายจ้างและลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานจะมีเสรีภาพในการเจรจาต่อรองและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่ตกลงกัน แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 บัญญัติให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้ บทกฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อรักษาความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติของนายจ้างที่กระทำต่อลูกจ้าง โดยไม่ให้มีข้อแตกต่างกันในเรื่องเพศ ดังนั้น แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะเกิดขึ้นจากการร่วมเจรจาต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรกับผู้ร้อง โดยมีผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานทอผ้าเมโทรเข้าร่วมเจรจาและทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยก็ตาม แต่เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเรื่องการเกษียณอายุ ในส่วนที่กำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 47 ปี แตกต่างจากกำหนดเกษียณอายุของพนักงานชายเมื่อ 55 ปี โดยไม่ปรากฏว่าลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกัน จึงเป็นการปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน ข้อตกลงในส่วนดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 15 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ผู้ร้องจึงต้องให้ผู้คัดค้านเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เท่าเทียมกับลูกจ้างชาย กรณีจึงไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการเกษียณอายุตามคำร้อง อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share