แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จะต้องประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำของตนและต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีก เมื่อพิจารณาเอกสารทีมผู้บริหารได้แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ทราบถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานและพฤติการณ์ส่วนตัวในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานโดยละเอียด และในเรื่องวิธีการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท เป็นลักษณะการทำงานที่เสียเวลาและเสียพลังงานโดยใช่เหตุ ข้อความดังกล่าวนี้ได้แสดงถึงเหตุในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้อย่างครบถ้วน และทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าตนกระทำความผิดอย่างไรแล้ว และยังมีข้อความในวรรคท้ายว่าผู้บริหารได้ขอให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นภายในเดือนหน้า มิฉะนั้นบริษัทจะพิจารณาให้จำเลยที่ 2 ออกจากบริษัทต่อไป จึงเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำซ้ำในเหตุที่โจทก์ได้กล่าวอ้างอีก จึงมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แล้ว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดอีกโดยไม่สามารถจัดเตรียมรายงานประจำปีอันเป็นงานในความรับผิดชอบของตนได้เรียบร้อย จึงเป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียว โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกกับจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกกับจำเลยที่ 1 ในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนที่สองว่าจำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ รง.0507.6/161 (ที่ถูก คำสั่งที่ 8/2546) ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2546
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
สำนวนหลัง จำเลยที่ 2 ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 6 ที่ 8/2546 และบังคับให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 184,000 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 300,000 บาท และเงินทดรองจ่าย 3,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าล่วงเวลา 2,300 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 6,900 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 64,400 บาท ค่าล่วงเวลาในวันหยุด 1,149 บาท ค่าชดเชย 276,000 บาท และดอกเบี้ยของค่าจ้างระหว่างผิดนัด 197 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2546 และโบนัส 138,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และโจทก์ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ รง.0507.6/161 ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2546 (ที่ถูก คำสั่งที่ 8/2546 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย)
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2544 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน ซึ่งตำแหน่งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวถือว่าเป็นผู้บริหาร ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2546 โจทก์ได้บอกเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยมีผลทันทีในวันนั้น ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าล่วงเวลาและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยที่ 1 ได้สอบสวนข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 แล้วมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 276,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 64,399.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 2 แต่ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทำงานล่วงเวลา และโจทก์เคยมีหนังสือเตือนจำเลยที่ 2 รวม 2 ครั้ง แล้ววินิจฉัยว่า หนังสือเตือนฉบับแรกเป็นเพียงหนังสือแจ้งความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปเท่านั้นหาใช่หนังสือเตือนไม่ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงยังถือไม่ได้ว่ากระทำผิดซ้ำคำเตือน ส่วนหนังสือเตือนฉบับที่ 2 ลงวันที่ 9 มกราคม 2546 ปรากฏว่ามีข้อความมีลักษณะเป็นการตักเตือนหรือลงโทษจำเลยที่ 2 หากกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีกโจทก์จะเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ทันที ดังนั้นหนังสือฉบับที่ 2 จึงเป็นหนังสือเตือนจำเลยที่ 2 และต่อมาในวันที่ 13 มกราคม 2546 โจทก์ก็ได้มีหนังสือเลิกจ้าง ที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่จัดเตรียมรายงานประจำปีให้อยู่ในรูปแบบและเนื้อหาที่เป็นที่ยอมรับของบรรดาผู้สอบบัญชีของโจทก์ โจทก์จึงขอยกเลิกสัญญาจ้างงานระดับบริหารกับจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือเตือนฉบับแรกในวันที่ 9 มกราคม 2546 แล้วแต่จำเลยที่ 2 ยังกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม 2546 ถือว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตามมาตรา 119 (4) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้าง
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิดซ้ำคำเตือนหรือไม่ เห็นว่า หนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จะต้องประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำของตนและต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามไม่ให้ลูกจ้างกระทำการเช่นนั้นซ้ำอีก เมื่อพิจารณาเนื้อความในเอกสารที่ระบุว่า ทีมผู้บริหารได้แจ้งจำเลยที่ 2 ให้ทราบถึงความไม่เป็นมืออาชีพในการทำงานและพฤติการณ์ส่วนตัวในระหว่างที่จำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานโดยละเอียด และในเรื่องวิธีการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงและภาพพจน์ของบริษัท เป็นลักษณะการทำงานที่เสียเวลาและเสียพลังงานโดยใช่เหตุ ข้อความดังกล่าวนี้ได้แสดงถึงเหตุในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ไว้อย่างครบถ้วน และทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่าตนกระทำความผิดอย่างไรแล้ว และยังมีข้อความในวรรคท้ายว่าผู้บริหารได้ขอให้จำเลยที่ 2 ปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นภายในเดือนหน้า มิฉะนั้นบริษัทจะพิจารณาให้จำเลยที่ 2 ออกจากบริษัทต่อไป จึงเป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้จำเลยที่ 2 กระทำซ้ำในเหตุที่โจทก์ได้กล่าวอ้างอีก จึงมีลักษณะเป็นหนังสือเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) แล้ว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดอีกโดยไม่สามารถจัดเตรียมรายงานประจำปีอันเป็นงานในความรับผิดชอบของตนได้เรียบร้อย จึงเป็นการกระทำความผิดซ้ำคำเตือน โจทก์จึงย่อมมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน