แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรณีที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) นั้น แม้ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจะระบุว่า การกระทำใดที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบ เป็นการกระทำที่ร้ายแรงก็ตาม ก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดร้ายแรงทุกกรณีไปไม่แต่จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ตามความเป็นจริงว่า เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมามาก่อนจะเริ่มเข้าทำงาน มิใช่ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้หลับขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จะระบุการกระทำในประการหลังนี้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อบังคับของนายจ้างที่มีความประสงค์ทั่วไปว่าลูกจ้างควรปฏิบัติหน้าที่เช่นใด เป็นไปในลักษณะที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็งอุทิศเวลาให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หลับขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าของจำเลย ซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ได้แม้มิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(3)
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสี่ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสี่ดื่มสุราแล้วเข้ามาทำงานในวันที่ 26 กรกฎาคม 2534 ซึ่งไม่เป็นความจริง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และมิได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า จำเลยมีคำสั่งปลดโจทก์ทั้งสี่ออกจากงานเนื่องจากโจทก์ทั้งสี่ดื่มสุราและมีอาการมึนเมาอย่างมากเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ตามกะและโจทก์ทั้งสี่ได้หลับในระหว่างที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและเป็นความผิดร้ายแรงขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรในการผลิตพลาสติก ซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ได้ แม้จะมิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา โจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมาเข้ามาทำงาน และได้นอนหลับเวลาทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ไม่ถือเป็นกรณีร้ายแรง แต่การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่กระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้อง การเลิกจ้างจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงนั้น ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมาเข้ามาทำงานในคืนเกิดเหตุ และหลับในเวลาทำงาน จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานเอกสารหมาย ล.5 ระบุไว้ในหมวดที่ 7 ว่าด้วยระเบียบข้อบังคับและวินัยในการปฏิบัติงาน ข้อ 3 ระบุว่า ห้ามนอนในเวลาทำงานและข้อ 21 ระบุว่า ห้ามเสพของมึนเมาหรือของเสพติดก่อนเข้าปฏิบัติงานหรือในระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เป็นกรณีหลับขณะปฏิบัติหน้าที่หรือดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 7.3 ว่าด้วยวินัยกำหนดว่าเป็นความผิดร้ายแรง ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ เห็นว่ากรณีที่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) นั้น แม้ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจะระบุว่า การกระทำใดที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบดังกล่าว เป็นการกระทำที่ร้ายแรงก็ตามก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดร้ายแรงทุกกรณีไปไม่แต่จะต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ตามความเป็นจริงว่า เป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างที่นายจ้างจะออกข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเช่นใดก็ได้ โดยระบุว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรงทุกกรณีไป พฤติการณ์ในคดีนี้ได้ความว่าโจทก์ทั้งสี่ดื่มสุรามึนเมามาก่อนจะเริ่มเข้าทำงาน มิใช่ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้หลับขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุการกระทำในประการหลังนี้ว่าเป็นความผิดร้ายแรงก็ตาม เป็นเพียงข้อบังคับของนายจ้างที่มีความประสงค์ทั่วไปว่าลูกจ้างควรปฏิบัติหน้าที่เช่นใด เป็นไปในลักษณะที่ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็งอุทิศเวลาให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หลับขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของโจทก์ทั้งสี่ในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่บกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าของจำเลย ซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่น ๆ ได้แม้มิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 47(3) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน