แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัตินิยามของความลับทางการค้าว่า “ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ” โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้อง ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า มีลักษณะครบถ้วนที่จะเป็นความลับทางการค้าตามที่มาตรา 3 ดังกล่าวกำหนดไว้ การที่พนักงานบริษัทโจทก์คนอื่นนอกเหนือจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งทั้งที่เป็นเอกสาร และเป็นข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้องโจทก์ จึงไม่ใช่ความลับทางการค้า ตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,851,300 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินผลประโยชน์ที่จำเลยทั้งสองได้รับจากการละเมิดสิทธิความลับทางการค้าของโจทก์ในปี 2555 เป็นเงินจำนวน 1,010,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายชะเลงศักดิ์ และนางรัตนาวดี เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ประกอบการขนส่งและขนถ่ายสินค้า รวมทั้งรับบริการนำของออกจากท่าเรือตามพิธีศุลกากรและการจัดระวางการขนส่งทุกชนิด ตามหนังสือรับรองเอกสาร และสำเนาหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายชะเลงศักดิ์ และเคยทำงานเป็นพนักงานบริษัทโจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทโจทก์ จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการประเภทเดียวกับโจทก์ และรับจ้างบริษัทฟูดเบลสซิ่ง (1998) จำกัด บริษัทเอส.เค.ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาขน) บริษัทอุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด และบริษัทลัคกี้ แคนเนอรี่ จำกัด ซึ่งเคยเป็นลูกค้าบริษัทโจทก์
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้อง เป็นความลับทางการค้าหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 บัญญัตินิยามของความลับทางการค้าว่า “ข้อมูลการค้าซึ่งยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้ในหมู่บุคคลซึ่งโดยปกติแล้วต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลดังกล่าว โดยเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เนื่องจากเป็นความลับ และเป็นข้อมูลที่ผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ” โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้อง มีลักษณะครบถ้วนที่จะเป็นความลับทางการค้าตามที่มาตรา 3 ดังกล่าวกำหนดไว้ ซึ่งโจทก์มีนางรัตนาวดี กรรมการผู้มีอำนาจบริษัทโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ในการติดต่อกับลูกค้าแต่ละรายเพื่อให้ว่าจ้างโจทก์ โจทก์โดยกรรมการบริษัทต้องใช้ความรู้ความสามารถในการเจรจาเสนอเงื่อนไขจนเป็นที่พอใจของลูกค้าแต่ละรายและว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งตู้บรรจุสินค้าของลูกค้าเป็นประจำ โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องราคาค่าจ้าง เมื่อโจทก์กับลูกค้าตกลงหรือทำสัญญาว่าจ้างกันแล้ว พยานจะนำข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อลูกค้า ที่อยู่ และราคาขนส่งที่ได้ตกลงกับลูกค้าแต่ละรายส่งให้จำเลยที่ 2 เพื่อบันทึกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ เสร็จแล้วจำเลยที่ 2 จะต้องนำเอกสารที่ได้บันทีกข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์แล้วมาส่งมอบให้พยานนำไปเก็บรักษาในที่ทำงานของพยาน พยานมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมดูแลข้อมูลของลูกค้าที่บันทึกลงในคอมพิวเตอร์แต่เพียงผู้เดียว แม้แต่กรรมการบริษัทโจทก์หรือพนักงานคนอื่นก็ไม่ทราบรหัสผ่านเพื่อเปิดใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อพิจารณาคำเบิกความดังกล่าวแล้วได้ความเพียงว่ามาตรการที่โจทก์ใช้เพื่อรักษาข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อลูกค้า ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งคือมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีรหัสผ่านเป็นอุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีมาตรการอื่นใดนอกเหนือจากนี้ เช่น ข้อกำหนดภายในบริษัทเกี่ยวกับการจำแนกข้อมูลที่เป็นความลับและวิธีการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว การทำเครื่องหมายในเอกสารเพื่อแสดงว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารลับ หรือการทำสัญญาว่าจ้างพนักงานที่มีข้อตกลงห้ามพนักงานที่ลาออกใช้ความลับของบริษัท เป็นต้น ข้อเท็จจริงกลับได้ความจากนางรัตนาวดีตอบคำถามค้านและคำถามติงว่า หลังจากจำเลยที่ 2 บันทึกข้อมูลแล้วจะมีการพิมพ์ใบเสนอราคาซึ่งจะปรากฏราคาค่าขนส่งที่ตกลงไว้กับลูกค้าแต่ละรายมาเป็นเอกสารเพื่อจัดส่งให้แก่ลูกค้า และมีสำเนาเอกสารเก็บไว้ในแฟ้มเอกสารโดยเก็บไว้ที่ฝ่ายบัญชีคือจำเลยที่ 2 โดยปกติใบเสนอราคาย่อมปรากฏชื่อและที่อยู่ของลูกค้า กับจำนวนเงินที่ลูกค้าต้องชำระแก่โจทก์ ดังนั้นใบเสนอราคาจึงแสดงถึงข้อมูลชื่อลูกค้า ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งอันเป็นข้อมูลที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง การที่โจทก์กำหนดให้มีการพิมพ์ใบเสนอราคา และจัดเก็บสำเนาใบเสนอราคาในแฟ้มเอกสารโดยไม่ได้กำหนดมาตรการที่จะป้องกันหรือเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวไว้เป็นความลับ ทำให้ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเดียว อีกทั้งทำให้ข้อมูลนั้นมีลักษณะเปิดเผยและพนักงานอื่นนอกจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ซึ่งปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวสุพรรษา พยานจำเลยทั้งสองซึ่งเคยเป็นพนักงานบริษัทโจทก์ในตำแหน่งผู้ช่วยธุรการบัญชีว่า ใบวางบิลหรือใบเสนอราคาเก็บอยู่ในแฟ้มเอกสารซึ่งเก็บไว้ในตู้ข้างโต๊ะทำงานของนางรัตนาวดี พนักงานทุกคนในบริษัทสามารถดูเอกสารในแฟ้มดังกล่าวได้ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานหักล้างคำเบิกความของนางสาวสุพรรษาเกี่ยวกับวิธีการเก็บรักษาสำเนาใบเสนอราคาดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องฟังว่าพนักงานบริษัทโจทก์ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ประกอบกับในส่วนข้อมูลที่จัดเก็บโดยบันทึกลงเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น จำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า พยานจดรหัสผ่านไว้บนกระดาษโน้ตสีฟ้าซึ่งมีกาวที่หัวกระดาษขนาดประมาณ 1 นิ้ว คูณ 2 นิ้ว และปิดไว้ที่หน้าคอมพิวเตอร์ มีพยานและนางสาวสุพรรษารู้ หากพยานไม่อยู่ นางสาวสุพรรษาสามารถทำแทนได้ และจำเลยทั้งสองยังมีนางสาวสุพรรษามาเบิกความเป็นพยานทำนองเดียวกันว่า รหัสผ่านในการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 2 อยู่บนกระดาษติดไว้ที่มุมขวาของจอคอมพิวเตอร์ ส่วนนางรัตนาวดีและนายชะเลงศักดิ์ กรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ไม่มีการปิดข้อความว่า “*54321 KING” ซึ่งเป็นรหัสผ่านที่ผนังห้องที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 2 เห็นว่า หน้าที่หลักของนางรัตนาวดีคือโทรศัพท์ติดต่อกับลูกค้า ส่วนนายชะเลงศักดิ์มีหน้าที่ควบคุมรถที่ใช้ในการขนส่ง ทั้งสองคนไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานด้านบัญชีและการเงิน ส่วนนางสาวสุพรรษาแม้ทำงานที่บริษัทโจทก์ในระยะเวลาสั้นแต่ทำหน้าที่ด้านบัญชีการเงินเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และเป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 2 จึงมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องรู้รหัสผ่านเพื่อใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้นางสาวสุพรรษาเป็นพยานคนกลาง ไม่มีสาเหตุขัดแย้งกับโจทก์ อีกทั้งไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายใด คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ เมื่อคำเบิกความของนางสาวสุพรรษาสอดคล้องกับจำเลยที่ 2 พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่ามีการติดรหัสผ่านที่หน้าจอคอมพิวเตอร์จริง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้พนักงานอื่นนอกจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ การที่พนักงานบริษัทโจทก์คนอื่นนอกเหนือจากจำเลยที่ 2 สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งทั้งที่เป็นเอกสาร และเป็นข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับ ข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ ที่อยู่ และราคาค่าจ้างขนส่งตามฟ้องโจทก์ จึงไม่ใช่ความลับทางการค้า ตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 3 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ