คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3839/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท ก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาล คำขอบังคับส่วนนี้มุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปรับเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดิน 45 ตารางวา และปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามจริงแก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และหักกลบลบหนี้ค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแสดงเจตนาให้โจทก์ทั้งสองไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ที่ศาล ในกรณีมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ที่ดินพิพาทบางส่วนที่ซื้อขายต้องตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดแสวงหาและชำระค่าที่ดินทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ให้มีที่ดินทำประโยชน์และก่อสร้างอาคารเพื่อขายให้เช่าภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อรวมค่าเสียหายที่โจทก์ให้จำเลยชำระจำนวน 300,000 บาท กับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระท้ายฟ้องคดีนี้แล้ว จึงมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนี้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) จึงไม่รับฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมด จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องโดยใช้ถ้อยคำฟุ่มเฟือย วกไปวนมาในลักษณะเล่าเรื่องความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ทำให้เข้าใจยาก แต่เมื่อพิจารณาประกอบสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน และจดหมายที่จำเลยที่ 1 มีถึงโจทก์ที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 กันยายน 2557 แล้วพอสรุปสาระสำคัญได้ว่า จำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ 121333 ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เนื้อที่ 45 ตารางวา ในราคารวมค่าเฟอร์นิเจอร์และค่าตกแต่งเป็นเงิน 600,000 บาท และโจทก์ที่ 2 ผู้จะซื้อได้ชำระค่าตกแต่งบ้านเป็นเงิน 35,000 บาท และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินจำนวนเงิน 32,000 บาท แล้ว โดยมีข้อตกลงในสัญญาข้อ 10 ว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งสามารถบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที และโจทก์ที่ 2 ผู้จะซื้อต้องส่งมอบบ้านคืน หรือฝ่ายจำเลยที่ 1 ผู้จะขายต้องส่งมอบเงินที่รับไปแล้วคืนทั้งหมดพร้อมชำระเบี้ยปรับเพิ่มอีกร้อยละ 50 ของราคาซื้อขายบ้านพร้อมที่ดินข้างต้นพร้อมค่าเสียหายอื่น ๆ โดยไม่ชักช้า ต่อมาโจทก์ที่ 2 นำบ้านพร้อมที่ดินตามสัญญาไปขายต่อให้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อให้เข้ามาพัฒนาที่ดินและปลูกสร้างอาคาร แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ไปติดต่อขออนุญาตก่อสร้างอาคารต่อองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ และนำเอกสารให้เจ้าของบ้านข้างเคียงคือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงนามรับรองแนวเขตข้างเคียง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ยอมลงนาม เป็นเหตุให้การขออนุญาตต้องหยุดดำเนินการ โดยจำเลยทั้งสี่แจ้งเหตุไม่ยอมลงนามว่า ที่ดินที่ขายให้แก่โจทก์ที่ 2 นั้น มีเนื้อที่เพียง 18 ตารางวา ส่วนที่เหลืออีก 27 ตารางวา เป็นทางสาธารณประโยชน์ของโครงการ และสรุปข้อกล่าวหาในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายและจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง กับมีคำขอบังคับในส่วนที่เป็นสาระสำคัญว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยชำระเสร็จแก่โจทก์ พร้อมโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดิน 45 ตารางวา และปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินลงวันที่ 7 เมษายน 2557 บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามจริงให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้ค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้จะซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้ และวางเงินคงเหลือไว้ที่ศาล ดังนี้ เห็นว่า แม้คำขอบังคับของโจทก์ทั้งสองในข้อที่ 1 โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้เบี้ยปรับตามสัญญาเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถือว่ามีทุนทรัพย์พิพาทกันเพียง 300,000 บาท เพราะดอกเบี้ยที่โจทก์ขอคิดจากจำเลยนับถัดจากวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยอันมิถึงกำหนดเกิดขึ้นในเวลายื่นคำฟ้องเป็นดอกเบี้ยในอนาคตที่ไม่อาจนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์พิพาทกันในคดีก็ตาม แต่คำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามจริงให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ย และหักกลบลบหนี้กับค่าบ้านที่คงเหลือที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาให้โจทก์ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้และวางเงินคงเหลือไว้ต่อศาลนั้น คำขอบังคับส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสองมุ่งประสงค์บังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาท ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายรวมราคาซื้อขายไว้เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองชนะคดีโจทก์ทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทที่มีราคาดังกล่าว ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีจึงเกินกว่า 300,000 บาท เกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาวกไปวนมาสรุปสาระสำคัญว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าควรให้ชดใช้มากน้อยหนักเบาต่างกันอย่างไร การในส่วนนี้ยังคงอยู่ในดุลพินิจของศาล โจทก์ทั้งสองจึงไม่สามารถกำหนดเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องคดีได้นั้น เห็นว่า เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้นแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมมีหน้าที่ต้องประเมินความเสียหายจากการที่จำเลยผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง และมีคำขอบังคับระบุจำนวนมาในคำขอท้ายฟ้องให้ชัดแจ้งเพื่อเป็นข้อบ่งชี้ถึงอำนาจศาล อำนาจของผู้พิพากษา และองค์คณะผู้พิพากษาที่จะพิจารณาพิพากษาคดีได้ถูกต้อง ส่วนในที่สุดศาลจะพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองแพ้หรือชนะคดีได้รับค่าเสียหายเพียงใดก็จะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณากำหนดให้ตามกฎหมายและตามพยานหลักฐานในคดี ดังนั้น ตามคำขอบังคับข้อ 2 ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามจริงให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยมิได้ระบุให้ชัดแจ้งให้ชดใช้เป็นเงินจำนวนเท่าใด แม้เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ…” ก็ตาม แต่ข้อความต่อไปในคำขอบังคับข้อ 2 ที่ว่า หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอม ให้ใช้คำพิพากษาแสดงเจตนาให้ผู้ซื้อไปโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินได้ และวางเงินคงเหลือไว้ที่ศาลนั้น เมื่อพิจารณาประกอบคำบรรยายฟ้องและสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน พอเข้าใจได้ว่า โจทก์ทั้งสองมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยินยอมก็ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ผู้จะซื้อได้ อันเป็นการฟ้องบังคับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทตามสัญญาซึ่งระบุราคาไว้ชัดเจน เป็นเงิน 600,000 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share