แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจำเลยจะเลิกผลิตและจำหน่ายน้ำปลาเครื่องหมายการค้าที่พิพาทเมื่อปรากฏว่าหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีเดิมแล้ว จำเลยยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องคดีเดิมอยู่ต่อไป จำเลยจึงต้องชำระค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว เมื่อจำเลยยังชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาส่วนนี้ไม่ครบถ้วน โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาส่วนนี้ได้ ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งความเสียหายว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทที่เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายจำหน่ายน้ำปลาของโจทก์ได้น้อยลงคิดเป็นเงินเดือนละ 35,000 บาทขอให้บังคับห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทหรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายที่คิดถึงวันฟ้องจำนวนหนึ่งกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทหรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ คำขอในส่วน ที่ระบุถึงเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะ เหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวนี้ เป็นเพียงคำขอล่วงหน้าในอนาคต เมื่อในขณะพิจารณาคดี เดิมยังไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้า อื่นตามคำขอดังกล่าวที่จะนำมาพิจารณาและในชั้น พิจารณาคดีเดิมศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาเกี่ยวกับ เครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา คงมีแต่จำเลยอุทธรณ์ฎีกาฝ่ายเดียวดังนี้ การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกจำหน่ายน้ำปลาที่พิพาทก็มิใช่เป็นการพิพากษาให้บังคับตามคำขอของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว การที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะการค้าโดยรวมอาจเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แต่ก็มีรายละเอียดประกอบแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าพิพาทที่ศาลพิพากษาห้ามจำเลยใช้และศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่พิพาทออกไปบ้าง จึงถือไม่ได้ว่าการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่อาจเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่ถูกห้ามใช้ตามคำพิพากษา ดังนี้ กรณีที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และทำให้โจทก์เสียหายมากหรือน้อยกว่าที่ศาลกำหนดให้ในคดีเดิมหรือไม่อย่างใด ก็เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวต่อไป กรณีไม่อาจถือได้ว่าการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขอให้ บังคับคดีแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายในส่วนนี้ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับคดีในส่วนค่าเสียหาย ไม่ตรงตามคำพิพากษาเป็นเรื่องสิทธิในการบังคับคดี ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไข เสียให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 หรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าตรา “1” ของโจทก์ ให้จำเลยจัดเก็บสินค้าน้ำปลาที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” จากท้องตลาดโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 620,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 35,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกผลิตและจำหน่ายน้ำปลาที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “1” ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 หรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าตรา “l” ของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l”ของจำเลยอีกต่อไป ให้จำเลยเก็บสินค้าน้ำปลาของจำเลยที่ใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l” ดังกล่าวจากท้องตลาดโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 60,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกผลิตและจำหน่ายน้ำปลาเครื่องหมายการค้าตรา “l” ของจำเลย
โจทก์ยื่นคำร้องว่า หลังจากศาลพิพากษาคดีแล้วจำเลยยังคงผลิตและจำหน่ายน้ำปลาโดยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l”ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ขอให้จับกุมจำเลยมากักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา และปรากฏว่าจำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 90,975 บาท กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแล้ว แต่ค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 20 มิถุนายน 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกผลิตและจำหน่ายน้ำปลาเครื่องหมายการค้าตรา “l” ของจำเลยจำเลยชำระให้เพียง 2 เดือน คือเดือนสิงหาคม 2533 และเดือนกันยายน2533 เป็นเงินรวม 10,000 บาท ขอให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ค้ำประกัน (ชั้นขอทุเลาบังคับคดี) นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ในส่วนค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยแถลงคัดค้านว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าใหม่ซึ่งแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนายทะเบียนได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวให้โดยถูกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามฉลากเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 อีก แสดงว่า จำเลยยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล จึงมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยและนางศิริพร ทรงนัฐศิริ ผู้ค้ำประกันจำเลยเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยให้หักค่าเสียหายถึงวันฟ้อง 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท เฉพาะเดือนสิงหาคม 2533และเดือนกันยายน 2533 ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้จับกุมจำเลยมากักขังไว้จนกว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิขอบังคับคดีโดยให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะในส่วนที่พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 20 มิถุนายน 2531) จนกว่าจำเลยจะเลิกผลิตและจำหน่ายน้ำปลาเครื่องหมายการค้าตรา “l” ของจำเลยได้เพียงใดหรือไม่ ปัญหานี้ในกรณีที่หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีเดิมเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2532 แล้ว จำเลยยังคงใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้องคดีเดิมคือเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 อยู่ต่อไปจำเลยต้องชำระค่าเสียหายดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 เมื่อจำเลยชำระเพียง2 เดือน ยังชำระค่าเสียหายตามคำพิพากษาส่วนนี้ไม่ครบถ้วนโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้
ส่วนกรณีที่ต่อมาจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมายล.3 หรือ จ.12 ซึ่งมีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงจากเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 ไปบ้างจะยังถือว่าจำเลยไม่เลิกใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l” ตามคำพิพากษาอันจะต้องชำระค่าเสียหายอีกเดือนละ 5,000 บาทต่อไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์โจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งความเสียหายของโจทก์ว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l” ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8ซึ่งตรงกับเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 ที่เหมือนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายจำหน่ายน้ำปลาของโจทก์ได้น้อยลงเดือนละ 500 โหล คิดเป็นเงินเดือนละ 35,000 บาทขอให้บังคับห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตรา “l” ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 (หรือเอกสารหมาย จ.7) หรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าตรา”l” ของโจทก์ และขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายที่คิดถึงวันฟ้องจำนวนหนึ่งกับค่าเสียหายอีกเดือนละ 35,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารท้ายห้องหมายเลข 8 (หรือเอกสารหมาย จ.7) หรือเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าตรา “l” ของโจทก์ซึ่งคำขอในส่วนที่ระบุถึงเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวนี้เป็นเพียงคำขอล่วงหน้าในอนาคต ในขณะพิจารณาคดีเดิมยังไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้าอื่นตามคำขอดังกล่าวที่จะนำมาพิจารณาและในชั้นพิจารณาคดีเดิมศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ฎีกาจำเลยอุทธรณ์ฎีกาฝ่ายเดียว ศาลฎีกาก็วินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกจำหน่ายน้ำปลาตรา “l” ตามเอกสารหมาย จ.7 มิใช่เป็นการพิพากษาให้บังคับตามคำขอของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอื่นอันมีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ จ.12ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วแม้จะมีตรา “l” เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าและลักษณะเครื่องหมายการค้าโดยรวมอาจเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ก็มีรายละเอียดประกอบแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมายจ.7 ที่ศาลพิพากษาห้ามจำเลยใช้และกำหนดค่าเสียหายจากการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 ออกไปบ้างจึงถือไม่ได้ว่า การใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.3หรือ จ.12 เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่ถูกห้ามใช้ตามคำพิพากษา ดังนี้ กรณีที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมายล.3 หรือ จ.12 ขึ้นใหม่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ และทำให้โจทก์เสียหายมากหรือน้อยกว่าที่ศาลกำหนดให้ในคดีเดิมอย่างใด ก็เป็นกรณีที่โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวต่อไป ไม่อาจถือได้ว่าการใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ จ.12 ของจำเลยเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาอยู่ต่อไป อันจำเลยจะต้องชำระค่าเสียหายเดือนละ5,000 บาท ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท ในระหว่างที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ จ.12มาในคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งและคำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับคดีในส่วนค่าเสียหายระหว่างที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย ล.3 หรือ จ.12 มาด้วยจึงไม่ชอบ เพราะเป็นการบังคับคดีไม่ตรงตามคำพิพากษาซึ่งปัญหาเรื่องสิทธิในการบังคับคดีนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์แก่จำเลยและนางศิริพร ทรงณัฐศิริ ผู้ค้ำประกันเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาเฉพาะที่บังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.7 เท่าที่จำเลยยังไม่ชำระแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3