คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 คชก.จังหวัดได้ประชุมและมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การที่ ช.ให้จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์รวมในนาพิพาทโดยมีค่าตอบแทนเป็นการชำระหนี้เงินยืมอย่างอื่นแทนเงิน ไม่เป็นการซื้อขายนาพิพาท โจทก์ได้ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในการเช่านาที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัด โจทก์จะต้องฟ้องคดีนี้ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2535 แต่วันที่ 20 มิถุนายน 2535 เป็นวันเสาร์ ศาลหยุดทำการ ดังนั้นโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในวันที่ 22 มิถุนายน 2535 ซึ่งเป็นวันจันทร์ศาลเปิดทำการวันแรกได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/8 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน30 วัน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ฟ้องจะระบุข้อความซึ่งหมายความว่าโจทก์ที่ 1และที่ 2 ฟ้องคดีด้วยตนเอง แต่โจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้อง เมื่ออ่านรวมกันแล้วย่อมเข้าใจได้ดีแล้วว่า โจทก์ที่ 1 ฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 อีกฐานะหนึ่งด้วย หลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การแล้ว โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมข้อความในช่องคู่ความ เฉพาะโจทก์ที่ 2 เป็นว่า “พ.โดย ผ.ผู้รับมอบอำนาจที่ 2” และศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การ โจทก์ทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง แก้ฟ้องในเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่าเคลือบคลุม โดยตัดข้อความว่า “แสดงเจตนาลวงโดยสมยอม ซึ่งความจริงเป็นเรื่องซื้อขายกัน” ออก แล้วเพิ่มข้อความ “ทำนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายเพราะเจตนาจริง ๆ เป็นเรื่องซื้อขาย หาใช่เป็นเรื่องให้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่” แทน และตัดข้อความ “ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลตามกฎหมาย” ออก แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองแก้ฟ้องโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับสำเนาคำร้องก่อนตามมาตรา 181 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้โต้แย้งคัดค้าน อีกทั้งในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็วินิจฉัยจากข้อความที่โจทก์ทั้งสองขอแก้ไข จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้อุทธรณ์โต้แย้งในเรื่องนี้ การแก้ไขคำฟ้องจึงชอบแล้ว
คำฟ้องและข้อที่แก้ไขคำฟ้องเมื่อเข้าใจได้ว่า ฟ้องข้อ 4 โจทก์ทั้งสองอ้างว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายส่วนฟ้องข้อ 5 เป็นเรื่องที่ ช.กับจำเลยที่ 2 แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าไม่มีการเช่านา ทั้ง ๆ ที่โจทก์ทั้งสองเช่าอยู่ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย คำฟ้องจึงมิได้มีข้อความขัดกัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว มิได้เป็นฟ้องเคลือบคลุม
คชก.ประจำจังหวัดนนทบุรี จำเลยที่ 3 แม้จะไม่ใช่นิติบุคคลแต่โจทก์ทั้งสองก็ได้แก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ประกอบด้วย ท.ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีเป็นประธานกรรมการ ส.อัยการจังหวัดนนทบุรี พ.เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ป.แทนเกษตรจังหวัดนนทบุรี ส.ประมงจังหวัดนนทบุรี พ.ปศุสัตว์จังหวัดนนทบุรี ผู้แทนผู้เช่านาจังหวัดนนทบุรี 4 คน คือ สว. สจ. บก.และ สม.กับผู้แทนผู้ให้เช่านาจังหวัดนนทบุรี 4 คน คือ สส. พจ. สน. และ ผอ. โดยมีสต.จ่าจังหวัดนนทบุรี เป็นกรรมการและเลขานุการ แม้จะมิได้ระบุรายชื่อคณะกรรมการแต่ละคนในช่องคู่ความตามฟ้องโจทก์ทั้งสอง ก็พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องตัวบุคคลที่ประกอบเป็นคณะกรรมการดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่พอใจคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีที่ไม่เห็นชอบตามคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบล โจทก์ทั้งสองจึงต้องฟ้อง คชก.จังหวัดนนทบุรีเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดนนทบุรีทั้งนี้เพื่อให้ คชก.จังหวัดนนทบุรีได้มีโอกาสเข้ามาต่อสู้คดีและชี้แจงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อแก้ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
พยานโจทก์เบิกความว่า เอกสารหมาย จ.6 เป็นการซื้อขายนาพิพาทโดยเป็นวิธีการจดทะเบียนขายที่ดินบางส่วน ที่ตอนท้ายของข้อ 3 ในเอกสารดังกล่าวระบุว่าผู้ขายได้ที่ดินมาอย่างไรและผู้ซื้อจะนำนาพิพาทไปทำอะไรนั้น ก็ได้ความมาจากการสอบถามผู้รับมอบอำนาจของ ช.และจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่าก่อนที่จะให้บุคคลทั้งสองลงลายมือชื่อในเอกสาร ได้สอบถามถึงการชำระเงินตามที่ระบุในเอกสารแล้ว ทั้งสองคนตอบว่าชำระกันเรียบร้อยแล้วจึงเห็นได้ว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงความหมายของเอกสารหมาย จ.6 ไม่ใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความตาม ป.วิ.พ.มาตรา 94 โจทก์ทั้งสองจึงนำสืบได้
สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน 30 วันตามมาตรา 57 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524เป็นสิทธิในการฟ้องคดีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องใช้สิทธิดังกล่าว ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องซึ่งจะมีอายุความไม่ ดังนั้น สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คชก.จังหวัดต่อศาลภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นอำนาจฟ้อง จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
โจทก์ฟ้องว่า ช.ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 และบังคับให้จำเลยที่ 1และที่ 2 โอนขายนาพิพาทให้โจทก์ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับซื้อนาพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อเท่านั้น ไม่ได้รวมถึง ช.ซึ่งเป็นผู้ขายด้วย อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้ขอเพิกถอนนิติกรรมระหว่าง ช.กับจำเลยที่ 2 ดังนั้น นิติกรรมระหว่าง ช.กับจำเลยที่ 2 จึงยังมีผลสมบูรณ์ โจทก์ไม่อาจขอให้บังคับ ช.ตามฟ้องได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของ ช.
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในข้อ 2 ว่า บันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมระหว่าง ช.กับจำเลยที่ 2 มิใช่เป็นการขายนาพิพาท แต่เป็นเสมือนการให้โดยเสน่หาตอบแทนความดีของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อ ช.ตลอดมา และให้การในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลละหารที่ให้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ในราคา 1,100,000 บาท ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโจทก์ทั้งสองจะบังคับซื้อคืนจะต้องซื้อตามราคาตลาดในขณะนั้นคือไร่ละ 1,500,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 54 จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การในข้อ 2จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสองว่า ช.มิได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ส่วนคำให้การในข้อ 3 เป็นเรื่องราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อนั้น ก็เป็นการปฏิเสธราคานาพิพาทที่ คชก.ตำบลวินิจฉัยบังคับให้จำเลยที่ 2 ขายนาพิพาทคืนให้โจทก์ทั้งสองว่าเป็นราคาที่ไม่ถูกต้อง เพราะตามกฎหมายดังกล่าวโจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นคือ 30,000,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาที่ คชก.ตำบลเชื่อว่า ช.ขายให้จำเลยที่ 2 ดังนั้น ราคานาพิพาทกับเรื่องที่ ช.ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ จึงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวกันเพราะเป็นการปฏิเสธตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยกขึ้นต่อสู้ได้โดยไม่จำต้องรับว่า ช.ได้ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก่อน คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาขัดแย้งกันไม่
พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา53 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบโดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก.ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวันและถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก.ตำบลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้…” และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใดผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน จากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวหมายความว่า เมื่อ ช.ผู้ให้เช่านาไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 53ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างใดก็ตาม โจทก์ทั้งสองผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาพิพาทจากจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนตามมาตรา 54 แต่จะต้องซื้อนาพิพาทคืนตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากันหาใช่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะหมดสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านและไม่อาจยกมาตรา54 ขึ้นอ้าง ดังนั้น ศาลชอบที่จะให้โจทก์ทั้งสองซื้อนาพิพาทคืนตามราคาตลาดในขณะนั้นได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การเกี่ยวกับราคาตลาดของนาพิพาทว่ามีราคา 30,000,000 บาท เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างราคาตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 54 เพื่อปฏิเสธราคานาพิพาทที่โจทก์ทั้งสองจะซื้อคืนว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องซื้อในราคาตลาดในขณะนั้น เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าจำนวนเงิน 30,000,000 บาทนี้ มิได้เป็นทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่จำต้องฟ้องแย้งและเสียค่าขึ้นศาล

Share