แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำแถลงของโจทก์ โจทก์มิได้กล่าวถึงเรื่องตามที่โจทก์ฎีกาว่า ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 261 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้แต่เฉพาะจำเลยที่อาจมีคำขอต่อศาลให้ถอนหมายยึดหรืออายัดหรือคำสั่งห้ามหรือสั่งอื่นใดเช่นว่านั้น แต่ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลภายนอกหรือผู้ร้อง ส่วนคำว่าบุคคลภายนอก ตามมาตรา 312วรรคแรก หมายถึงบุคคลที่ได้รับหมายอายัด หรือ ส. ซึ่งมิใช่ผู้ร้อง การใช้ดุลพินิจและมีคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงยังไม่ถูกต้อง และในชั้นอุทธรณ์โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องอุทธรณ์ ไว้แต่เพียงว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 บัญญัติว่า”จำเลยหรือบุคคลภายนอก…” การยื่นคำร้องคัดค้านของผู้ร้องจึงต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ.มาตรา 288 โดยอนุโลม ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงคนละอย่างกับฎีกาของโจทก์ดังกล่าว ฎีกาโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก
เมื่อค่างานในงวดที่ 5 เกิดขึ้นจากสิทธิเรียกร้องค่าจ้างงานที่จำเลยมีต่อ ส. และสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจำเลยได้โอนให้ผู้ร้องโดยชอบไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นเวลา 7 เดือนเศษ อีกทั้งผู้ร้องได้รับเงินค่างวดการจ้างงานไปก่อนแล้วถึง 4 งวด โดยเงินทุกงวดก็ต้องถือเป็นเงินอันเกิดจากสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นของผู้ร้องโดยแท้เช่นเดียวกัน ผู้ร้องจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างงานในงวดที่ 5 อย่างเช่นในงวดก่อน ๆ เหมือนเดิม โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิขออายัดเงินค่างานในงวดที่ 5 ดังกล่าว
แม้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 288 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดคัดสินคดีเหมือนอย่างคดีธรรมดา หรือตามมาตรา 312 บัญญัติให้ศาลอาจทำการไต่สวนก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลในอันที่จะฟังว่าคดีใดไม่สมควรสืบพยานเพราะไม่เกี่ยวแก่ประเด็นหรือเป็นการประวิงให้ชักช้า หรือฟุ่มเฟือยเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจงดการสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้นหรืองดการไต่สวนเสียได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 86 วรรคสอง โดยให้ถือว่าคดีเสร็จการพิจารณาและพิพากษาคดีไปตามนั้นตามมาตรา 37