คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชาย ม. ซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชาย ม. ให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชาย ม. ไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชาย ม. ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 73,770.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 58,460 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 กรกฎาคม 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยพรากเด็กชายมนตรีซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากโจทก์ซึ่งเป็นบิดาผู้ใช้อำนาจปกครองและหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชายมนตรีให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งโจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดที่จำเลยพรากเด็กชายมนตรีซึ่งมีอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปจากโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งฐานละเมิดโดยอาศัยมูลคดีอาญาความผิดดังกล่าว อันเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาจำเลยเฉพาะความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ไม่ได้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่หน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กชายมนตรีให้ปราศจากเสรีภาพโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครอง ย่อมเป็นการพาและแยกเด็กชายมนตรีไปจากความปกครองดูแลของโจทก์ทำให้ความปกครองดูแลของโจทก์ที่มีต่อเด็กชายมนตรีถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลด้วย เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง มาใช้บังคับการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก มีอายุความทางอาญา 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกำหนดอายุความที่ยาวกว่าอายุความทางแพ่งในมูลละเมิด จึงต้องเอาอายุความ 15 ปี มาใช้บังคับ จำเลยกระทำละเมิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ยังไม่พ้นกำหนด 15 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ปัญหานี้จำเลยได้ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์ในมูลละเมิดอันเกิดจากการกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เป็นการสูญเสียสิทธิและโอกาสในการปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ และรวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์จากการละเมิด แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการดำเนินคดีเพราะเป็นค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการพาเด็กชายมนตรีไปติดต่อกับเจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในระหว่างการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการละเมิด โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้อง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องสูญเสียสิทธิและโอกาสในการปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ และโจทก์ไม่อาจนำสืบได้ว่าความเสียหายดังกล่าวมีเพียงใด ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง และค่าเสียหายที่ศาลล่างกำหนดให้แก่โจทก์นั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share