คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12803/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมิใช่ศาลยุติธรรม ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลชั้นต้นจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาคดีได้ และเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้เนื่องจากเป็นการล่วงเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัท ต. ที่กำหนดให้บริษัท ต. ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัท ต. แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัท ต. มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัท ต. ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัท ต. ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 10 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัท ต. ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัท ต. ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัท ต. และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัท ต. โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้
คดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท เมื่อศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ควรจะได้รับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอีก เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 653/15 – 19 และเลขที่ 653/41 – 52 และส่งมอบอาคารดังกล่าวแก่โจทก์ ให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์ 3,669,098.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,061,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์สำหรับอาคารเลขที่ 653/15 – 19 จำนวน 5 คูหา อัตราคูหาละ 4,500 บาท ต่อเดือน และเลขที่ 653/41 – 52 จำนวน 12 คูหา อัตราคูหาละ 3,000 บาท ต่อเดือน นับแต่วันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารดังกล่าว
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 653/15 – 19 และเลขที่ 653/41 – 52 ให้จำเลยส่งมอบอาคารดังกล่าวคืนโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 767,227.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 713,700 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 มิถุนายน 2552) จนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและออกจากอาคารดังกล่าว และให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์สำหรับอาคารเลขที่ 653/15 – 19 จำนวน 5 คูหา อัตราคูหาละ 4,500 บาท ต่อเดือน และเลขที่ 653/41 – 52 จำนวน 12 คูหา อัตราคูหาละ 3,000 บาท ต่อเดือน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินและออกจากอาคารดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 36,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้อพิพาทเรื่องเขตอำนาจศาลและอำนาจฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมิใช่ศาลยุติธรรม ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลชั้นต้นจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิพากษาคดีได้ และเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้เนื่องจากเป็นการล่วงเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่บริษัทตรีวาณิช จำกัด โดยชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับบริษัทตรีวาณิช จำกัด ที่กำหนดให้บริษัทตรีวาณิช จำกัด ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้วยสัมภาระและค่าใช้จ่ายของบริษัทตรีวาณิช จำกัด แล้วส่งมอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้บริษัทตรีวาณิช จำกัด มีสิทธิเช่ามีกำหนดเวลา 15 ปี หรือจะนำบุคคลอื่นมาทำสัญญาเช่ากับโจทก์ก็ได้ โดยบริษัทตรีวาณิช จำกัด ต้องชำระค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงินเท่ากับค่าเช่าตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หากบริษัทตรีวานิช จำกัด ผิดสัญญายอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันทีเช่นนี้ ถือว่ามีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา แต่ในสัญญาดังกล่าวข้อ 16 ยังได้ระบุไว้ชัดเจนว่าถ้าบริษัทตรีวาณิช จำกัด ผิดสัญญาข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันที เมื่อปรากฏว่าบริษัทตรีวาณิช จำกัด ค้างชำระค่าเช่าอันเป็นการผิดสัญญาข้อ 7 โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยเช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัทตรีวาณิช จำกัด และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่บริษัทตรีวาณิช จำกัด ทำไว้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่บริษัทตรีวาณิช จำกัด โดยชอบแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทอีกต่อไป การที่จำเลยอยู่ต่อมาโดยโจทก์ไม่ยินยอมจึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเช่าจากบริษัทตรีวาณิช จำกัด ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา ตลอดระยะเวลาการเช่า 15 ปี จำเลยจึงควรรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดในสัญญาดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในอัตราที่สูงกว่านั้นจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 อันเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตที่ช่วยค่าก่อสร้างแก่บริษัทตรีวาณิช จำกัด เป็นเงินหลายล้านบาทนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้ว ย่อมเป็นอันสิ้นผลผูกพัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิหาประโยชน์โดยการนำออกให้เช่าได้ เมื่อปรากฏว่าอาคารพาณิชย์พิพาทตั้งอยู่กลางเมืองเหมาะสำหรับทำการค้า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่ากับอัตราค่าเช่าที่คณะกรรมการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์ของโจทก์ซึ่งมีข้าราชการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมมีมติไว้นับว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว จำเลยเป็นเพียงผู้เช่าช่วงอาคารพาณิชย์พิพาทจากบริษัทตรีวาณิช จำกัด และเข้าอยู่โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาที่บริษัทตรีวาณิช จำกัด ทำกับโจทก์ย่อมไม่อาจยกเอาข้อสัญญาที่สิ้นผลผูกพันระหว่างโจทก์กับบริษัทตรีวาณิช จำกัด แล้วนั้นขึ้นมากล่าวอ้างให้โจทก์ต้องปฏิบัติตามอีกได้ หากจำเลยต้องเสียหายประการใดก็เป็นหน้าที่ของจำเลยต้องไปว่ากล่าวเอาจากผู้ที่ทำให้ตนเสียหายอีกส่วนหนึ่ง กรณีไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนในศาลชั้นต้น โดยลดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนลงตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี และลดค่าทนายความให้ด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมีทุนทรัพย์สูงถึง 3,669,098.19 บาท และใช้เวลาดำเนินคดีหลายปี ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายเป็นเงินต้น 713,700 บาท น้อยกว่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องก็เนื่องจากค่าเสียหายที่โจทก์ฟ้องส่วนใหญ่ขาดอายุความอันเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว จึงถือว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนและค่าทนายความเหมาะสมต่อรูปคดีแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์เป็นรายเดือนพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากอาคารพาณิชย์พิพาท เมื่อศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ควรจะได้รับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้องอีก เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง เป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของค่าขาดประโยชน์รายเดือนนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share