คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5088/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ไม่ใช่เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความกันได้ ไม่จำต้องร้องทุกข์ ดังนี้ เมื่อพนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแจ้งความร้องทุกข์ของผู้เสียหายที่ 1 ว่าคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านและรายการทรัพย์สินที่ถูกลักไปมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2 รวมอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 5,200 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และ 17,800 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(3)(8) วรรคสาม จำคุก 3 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 8,200 บาท และผู้เสียหายที่ 2จำนวน 17,800 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นฟังได้ว่า จำเลยได้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 1 และลักทรัพย์สินตามฟ้องไป ในส่วนที่เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและไม่เคยมอบอำนาจให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความร้องทุกข์แทนพนักงานสอบสวนจึงไม่ได้ทำการสอบสวน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ไม่ใช่เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความกันได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องร้องทุกข์เมื่อพนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจากการแจ้งความร้องทุกข์ของผู้เสียหายที่ 1 ว่าคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านและรายการทรัพย์สินที่ถูกลักไปมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2 รวมอยู่ด้วย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนเรื่องเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวด้วยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่ 2
พิพากษายืน

Share