คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8712/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มูลหนี้ที่บริษัท ง. ฟ้อง ป. กับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของ ป. โดยจำเลยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เป็นมูลหนี้อันเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกกันได้ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยระบุยอดหนี้ชัดเจนและแน่นอน โดยคิดถึงวันฟ้องตามมูลหนี้ที่แท้จริงที่ ป. ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการถูกต้องแล้ว แม้หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วโจทก์จะได้รับการชำระหนี้จากหลักประกันของ ป. ผู้กู้อันเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีผลทำให้ยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบแล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้าง จึงต้องฟังว่าจำเลยยังค้างชำระหนี้ตามฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องนำสืบถึงจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้หลังจากฟ้องเป็นคดีนี้แล้ว เพราะเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี การบังคับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นในคดีที่ ป. ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้อง และในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นนี้เป็นขั้นตอนการปฏิบัติในการบังคับคดี
ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ป. ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยตามสัญญากู้เพียงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงไปกว่าที่ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 11,139,205.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 24 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายในอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้วหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อได้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินนั้นชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ทำให้ยอดหนี้ที่นายประเสริฐและจำเลยติดค้างอยู่ลดจำนวนลง มิใช่ยอดหนี้ที่ติดค้างทั้งหมดตามที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าเหลือยอดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวนเท่าใด จึงไม่มีหนี้ที่แท้จริงอันเป็นฐานที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์ได้นั้น ในเรื่องนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ในหนี้สินที่นายประเสริฐผู้กู้ได้กู้เงินไปตามสัญญากู้ ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันและจากการนำสืบโจทก์ก็มีนางนิรัติศัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า หลังจากที่โจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) โจทก์ได้ดำเนินการตรวจสอบสินเชื่อที่นายประเสริฐผู้กู้ทำไว้กับบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ปรากฏว่าในขณะที่นายประเสริฐขอกู้เงินนั้น จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้วยตามสัญญาค้ำประกัน หลังจากที่โจทก์ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ของนายประเสริฐแล้ว ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของนายประเสริฐ ซึ่งในการขายทอดตลาดดังกล่าวนั้นได้มีขึ้นหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วมูลหนี้ในคดีนี้หลังจากที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์แล้วจะเหลือเท่าไร นางนิรัติศัยจึงไม่ทราบ แต่ยืนยันว่าหากจำเลยจะต้องรับผิดในมูลหนี้ในคดีนี้นั้น จะต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาหักออกจากหนี้ในคดีนี้ก่อน เหลือส่วนต่างเท่าใดจึงบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในคดีนี้ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางสาวพัศศรณ์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทเงินทุน ไทยธนากร จำกัด (มหาชน) มาเบิกความยืนยันว่าในคดีที่นายประเสริฐผู้กู้ถูกฟ้องบังคับชำระหนี้นั้น ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไทยธนากร จำกัด (มหาชน) โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ทวงหนี้กับจำเลยเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของนางนิรัติศัยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่าคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยให้ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่สามารถส่งให้ได้ดังปรากฏหลักฐานตามหนังสือทวงถามพร้อมใบตอบรับ สำหรับหนี้ของนายประเสริฐอันเป็นหนี้ประธานที่ติดค้างชำระอยู่กับโจทก์นั้นคิดเป็นต้นเงินจำนวน 3,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 8,139,205.47 บาท ซึ่งจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจะต้องรับผิดชอบในหนี้จำนวนดังกล่าวด้วยดังปรากฏรายละเอียดตามตารางการคิดคำนวณยอดเงินพร้อมดอกเบี้ย โดยจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เห็นว่า มูลหนี้ที่บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ฟ้องนายประเสริฐตามสัญญากู้เงินกับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของนายประเสริฐดังกล่าวโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เป็นมูลหนี้อันเดียวกันและไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ แม้นางนิรัติศัยพยานโจทก์เบิกความว่ายังไม่ทราบว่าการขายทอดตลาดทรัพย์ของนายประเสริฐอันเป็นหนี้ประธานนั้นได้เงินเท่าใด และเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้นำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้เข้าสวมสิทธิแทนบริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ก็ตาม แต่นางนิรัติศัยก็ได้เบิกความยืนยันว่าได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของนายประเสริฐผู้กู้หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้แล้ว ฉะนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยระบุยอดหนี้ชัดเจนและแน่นอนโดยคิดถึงวันฟ้องตามมูลหนี้ที่แท้จริงที่นายประเสริฐลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดต่อโจทก์จึงเป็นการถูกต้องแล้ว แม้หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยแล้วโจทก์จะได้รับการชำระหนี้จากหลักประกันของนายประเสริฐผู้กู้อันเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือไม่และเป็นจำนวนเท่าใด ก็ไม่มีผลที่ทำให้ยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์จนถึงวันฟ้องเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด การบังคับชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นในคดีที่นายประเสริฐผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องและในคดีที่จำเลยถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นนี้ เป็นขั้นตอนการปฏิบัติในการบังคับคดี ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถที่จะบังคับเอาจากทรัพย์สินของผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหรือผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมทั้งสองฝ่ายหรือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากน้อยเพียงใดก็ได้ แต่จะบังคับเอาชำระหนี้จนเกินกว่าที่ผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดชอบหาได้ไม่ เกี่ยวกับมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้นั้น หลังจากที่มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของนายประเสริฐซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวมาหักออกจากหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นคดีนี้เสียก่อน เหลือส่วนต่างที่ยังคงค้างอีกเท่าใดจึงจะสามารถบังคับชำระหนี้จากจำเลยในคดีนี้ได้เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้การที่โจทก์ฟ้องโดยระบุยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่โจทก์เต็มตามจำนวนมูลหนี้ที่นายประเสริฐผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องรับผิดชอบโดยคิดยอดหนี้ถึงวันฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบแล้ว เมื่อตามทางพิจารณาจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น ในชั้นนี้จึงต้องฟังว่าจำเลยยังต้องค้างชำระหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจริง โดยโจทก์ไม่มีความจำเป็นจะต้องนำสืบในส่วนของจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้นมาหลังจากฟ้องเป็นคดีนี้แล้วแต่ประการใดทั้งสิ้นเพราะเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มาโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าเหลือยอดหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อโจทก์จำนวนเท่าใด จึงไม่มีจำนวนหนี้ที่แท้จริงอันเป็นฐานที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ได้นั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 24 ต่อปีนั้น เห็นว่า นายประเสริฐผู้กู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดในส่วนของดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงิน จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน จึงหาต้องรับผิดต่อโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงไปกว่าที่ลูกหนี้ชั้นต้นจะต้องชำระแต่อย่างใดไม่
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระหนี้ร่วมที่เป็นมูลหนี้เดียวกันกับที่บริษัทเงินทุนไทยธนากร จำกัด (มหาชน) ฟ้องนายประเสริฐ เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5675/2538 ของศาลชั้นต้นเป็นเงินจำนวน 11,139,205.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share