แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมีคำสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามมาตรา 31 วรรคสาม คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามคำสั่งศาลดังกล่าวทันที การยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติต่อมาภายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นการยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยจำเลยไม่อาจอ้างอายุความใด ๆ ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อรัฐได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับจำเลยให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว หาจำต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี (ที่ถูก มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 72 ตรี วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 (ที่ถูก มาตรา 31 วรรคหนึ่ง) ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง คดีถึงที่สุดแล้ว
จำเลยและบริวารไม่ยอมออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำบังคับ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า คดีนี้โจทก์จะต้องขอให้บังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และมีคำสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครอง ซึ่งเป็นการสั่งตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 31 วรรคสาม และคดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองดังกล่าวตามคำสั่งศาลทันที และการยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติต่อมาหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นการยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยจำเลยไม่อาจอ้างอายุความใด ๆ ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อรัฐได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับจำเลยให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติโดยตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว หาจำต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งอ้างว่า ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2525 ซึ่งประกาศก่อนที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้ในปี 2539 และปัจจุบันมีประกาศคณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งให้ผู้ถือครองที่ดินในเขตดำเนินการปฏิรูปที่ดิน แจ้งการถือครองที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยได้ยื่นขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครองอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน