คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9757/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้
หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของ อ. บ. และ ค. เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดที่ดิน เลขที่ 3312 ตำบลบางเหนียว (ตลาดใหญ่) อำเภอทุ่งคา(เมือง) จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 86 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ในชั้นบังคับคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตมีหนังสือลงวันที่ 14 มกราคม 2552 หารือศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องนำคำสั่งดังกล่าวไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เพื่อดำเนินการจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จากการตรวจสอบสารบบที่ดินแล้ว ปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีการออกโฉนดที่ดินให้แก่นายแอลเล็น นายเอ. อี. บีแดล และนายเอช คันดี ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าศาสนิกชนคริสเตียน และเมื่อออกไปตรวจสอบแล้วพบว่า มีการล้อมรั้วที่ดินในบริเวณรั้วมีหลุมฝังศพอยู่ และมีต้นมะพร้าว ต้นมะปรางอยู่บ้างประปราย ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลว่าในขณะออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินว่างเปล่า เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ป่าช้าศาสนิกชนคริสเตียน มิได้เป็นของนายแอลเล็น นายเอ. อี. บีแดล และนายเอช คันดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนและมีหนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2552 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตว่า ให้ระงับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงพิพาทไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่สามารถจดทะเบียนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3312 ตำบลบางเหนียว (ตลาดใหญ่) อำเภอทุ่งคา (เมือง) จังหวัดภูเก็ต ให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ศาลชั้นต้นมีอำนาจไต่สวนและสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตระงับ หรือไม่จดทะเบียนการได้สิทธิในที่ดินพิพาท ตามคำสั่งศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามใบไต่สวนในการเดินสำรวจเขตที่ดินเพื่อออกโฉนด ท้ายหนังสือขอหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 ว่า นายแอลเล็น นายเอ.อี.บีแดล และนายเอช คันดี ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าศาสนิกชน คริสเตียน อยู่ที่บ้านนางงั่ว ตำบลสั้นใน อำเภอทุ่งคา จังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ขอไต่สวนรังวัดแนวเขตที่ดินเพื่อออกโฉนด โดยนายแอลเล็นได้ให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าได้ที่ดินมาโดยทางบ้านเมืองได้ยกให้เป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมาเป็นเวลาช้านาน และนายแอลเล็นได้รับใบไต่สวนสำหรับที่ดินพิพาทจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2496 แสดงว่าทางบ้านเมืองได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนโดยตั้งเป็นทรัสตีป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนและให้นายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี เป็นทรัสตี ต่อมาได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนอันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2 ซึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อปี 2459 มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเป็นตรัสตีในเรื่องที่ดินมีโฉนดแผนที่รายใดก็ดี หรือในเรื่องที่ดินซึ่งมีใบไต่สวนหรือใบนำสำหรับรับโฉนดแผนที่ก็ดี ให้มีอำนาจมาจดทะเบียนลงชื่อตนเองได้แลต่อชื่อนั้นไปให้บ่งความว่า “ในน่าที่ตรัสตีเรื่องนั้น ๆ” ….การที่นายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี ไปจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในหน้าที่ตรัสตีหรือทรัสตีป่าช้าสำหรับ ศาสนิกชนคริสเตียนดังกล่าว แสดงให้เห็นได้อีกประการหนึ่งว่าได้มีการจัดตั้งทรัสตีป่าช้าสำหรับ ศาสนิกชนคริสเตียนขึ้น รวมทั้งให้นายแอลเล็น นายเอ. อี. บีแดล และนายเอช คันดี เป็นทรัสตีอย่างช้าที่สุดในวันที่ออกโฉนดที่ดินคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2476 ตามหนังสือขอหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 14 มกราคม 2552 ข้อ 3 ซึ่งนายแอลเล็นได้รับโฉนดที่ดินพิพาทจากสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2476 (ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 215/2538 ของศาลชั้นต้น) การก่อตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ไม่เสียเปล่าไป และปรากฏจากการเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาทของศาลชั้นต้นว่า ลักษณะของป่าช้าดังกล่าวไม่ใช่สถานที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มของนายแอลเล็น นายเอ. อี. บีแดล และนายเอช คันดี เท่านั้น แต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวคริสเตียนซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใคร ถือได้ว่าทรัสตีป่าช้าสำหรับ ศาสนิกชนคริสเตียนตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายนับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวคริสเตียนทั่วไป ลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือ ทรัสต์มหาชนจึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเอง ดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่า นายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี ได้ถึงแก่กรรมแล้ว แต่ทรัสตีป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไปโดยผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่ได้ คดีนี้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ต่อมาบุคคลทั้งสามได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ขุนแถลงภาษาซึ่งเป็นตาของผู้ร้อง ขุนแถลงภาษาครอบครองที่ดินพิพาทได้ 20 ปี ก็ถึงแก่ความตาย ก่อนตายขุนแถลงภาษาได้ยกที่ดินแปลงพิพาทให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าศาสนิกชนคริสเตียน ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายแอลเล็น นายเอ. อี.บีแดล และนายเอช คันดี ดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ทั้งตามลักษณะที่ดินพิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวคริสเตียนอยู่และที่ดินพิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นหลุมฝังศพของชาวคริสเตียนทั่วไป ในที่ดินมี ต้นมะพร้าว ต้นมะม่วงและต้นไม้อื่นปลูกอยู่แบบกระจัดกระจาย โดยต้นมะพร้าวมีอยู่ประมาณ 10 ต้น การปลูกต้นไม้ไม่มีลักษณะเป็นสวน ตามพื้นที่มีลูกมะพร้าวตกอยู่ มีเศษใบไม้และมีทางมะพร้าวตกอยู่ตามพื้นดิน ลักษณะเหมือนไม่มีผู้ดูแล สภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตนทั้งไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ นอกจากนั้น ในชั้นไต่สวนคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ผู้ร้องเองก็ไม่ได้นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพแต่นำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ว่างเปล่า ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องขอเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอย่างสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง ศาลฎีกาเห็นว่า การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งว่าเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตไม่สามารถจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 3312 ตำบลบางเหนียว (ตลาดใหญ่) อำเภอทุ่งคา (เมือง) จังหวัดภูเก็ต ให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้ เพราะเป็นคำสั่งที่แก้ไขหรือกลับคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสอง นั้น เห็นว่า หนังสือหารือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตลงวันที่ 14 มกราคม 2552 ที่สอบถามศาลชั้นต้นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ป่าช้าสำหรับศาสนิกชนคริสเตียนมิได้เป็นของนายแอลเล็น นายเอ อี.บีแดล และนายเอช คันดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตจะจดทะเบียนให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้หรือไม่ เป็นหนังสือหารือที่ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อขัดข้องในการบังคับคดีของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ตเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้ไขคำวินิจฉัยในคำพิพากษาหรือคำสั่งเดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสอง ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share