แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทหารเรือทำผิดร่วมกับพลเรือน คำว่า ” ปะปนในการกระทำผิด “
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องต่อศาลทหารเรือกลางว่า ต.ซึ่งเปนทหารเรือสมคบกับบุคคลอื่น ( ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเรือ ) ทำผิดกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๑๗๘ แล ๓๐๑ จำเลยตัดฟ้องว่าศาลทหารเรือไม่มีอำนาจพิจารณาคดีตามมาตรา ๕๕ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารเรือ ร.ศ. ๑๒๗ คดีควรพิจารณาในศาลพลเรือน
ศาลทหารเรือกลางตัดสินยกข้อตัดฟ้องนี้เสีย อ้างฎีกาที่ ๔๖๔/๑๒๘
ศาลกรมบัญชาการกลางทหารเรือ ตัดสินว่าศาลทหารเรือไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ อ้างว่าได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเปนคำพิพากษาในคดีแดงที่ ๒๕/๑๒๘ ยกเลิกคำพิพากษาคดีเรื่องก่อนนั้นเสียแล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในฎีกาที่ ๔๖๔/๑๒๘ ศาลฎีกาพิพากษาว่าพระธรรมนูญศาลทหารเรือไม่ได้ลบล้างอำนาจศาลพลเรือนอย่างใด ในฎีกาฉบับนั้นแม้ศาลฎีกาจะแสดงความเห็นว่าศาลต้องออกหมายขังผู้ต้องหาแล้ว จึงควรถือว่าผู้นั้นปะปนอยู่ด้วยในการกระทำผิดก็ดี แต่ความข้อนี้มิได้เปนประเด็นแห่งคดีนั้นโดยตรง เพราะฉนั้นพระบรมราชวินิจฉัยที่ ๒๕/๑๒๘ มีน้ำหนักมากกว่า เพราะพระบรมราชวินิจฉัยนั้นได้พระราชทานภายหลังคำพิพากษาฉบับก่อน ๓ เดือน แลทั้งได้แปลถ้อยคำว่า ” ปะปนอยู่ในการกระทำผิด ” ในมาตรา ๕๕ แห่งพระธรรมนูญศาลทหารเรือไว้ว่า ถ้าทหารเรือถูกฟ้องว่ากระทำผิดรวมกับคนอื่น ( คือผู้ที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารเรือ ฯ แล้ว เพียงข้อเท็จจริงอันนี้เท่านั้นก็กระทำให้คดีเรื่องนั้นเข้าอยู่ในมาตรา ๕๕ ท่านให้ชำระคดีนั้นในศาลพลเรือน
คดีนี้ฟ้องโจทย์กล่าวว่า จำเลยสมคบกับบุคคลอื่นอีก ๖ คนทำผิดกฎหมายลักษณอาญามาตรา ๑๗๘ แล ๓๐๑ ถ้าศาลจะลงโทษบุคคลตามมาตรา ๑๗๘ ต้องมีบุคคลอย่างน้อย ถึง ๕ คน แลตามมาตรา ๓๐๑ อย่างน้อยต้องมี ๓ คน ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่า ” ปะปน ” ต้องหมายความว่าปะปนในเวลาที่กระทำความผิด แลไม่เกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาภายหลังเลย แลคำในมาตรา ๕๕ นั้นก็ว่า ” ปะปนในการกระทำผิด ” ไม่ใช่ปะปนในฟ้อง ศาลทหารเรือจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ คดีนี้อยู่ในอำนาจศาลทหารเรือ