คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 955/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ได้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นจริงๆ ถ้าพยานจะลงลายมือชื่อรับรองในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้รู้เห็นและยินยอมด้วย ฉะนั้น ในสัญญากู้ที่พยานมิได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะที่มีการพิมพ์ลายนิ้วมือและผู้กู้มิได้รู้เห็นยินยอม จึงต้องถือว่าผู้ให้กู้ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 10/2507)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 13,000 บาท โดยนำโฉนดที่ดินมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้ ต่อมาโจทก์ต้องการเงินคืนจึงได้ทวงถามจำเลยหลายครั้งเรื่อยมา จึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์ 13,000บาท และได้รับเงินไปแล้ว แต่ผู้รู้เห็นในการกู้ยืมมิได้ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยในขณะทำสัญญาเพิ่งมาลงชื่อหลังจากทำสัญญาแล้ว 3 ปี โดยจำเลยมิได้รู้เห็นด้วยสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าผู้รู้เห็นในสัญญาแต่มาลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือหลังจากทำสัญญา3 ปี พยานยังจำได้ว่าเป็นสัญญาที่จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้จึงพิพากษากลับให้จำเลยใช้ต้นเงิน 13,000 บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีได้ความจากการนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้กู้เงินโจทก์ไป 13,000 บาท จำเลยได้รับเงินและได้พิมพ์ลายนิ้วมือในหนังสือสัญญากู้ต่อหน้าโจทก์และพยานอีกสองคน แต่โจทก์และพยานไม่ได้ลงชื่อในสัญญากู้ด้วย ต่อมาประมาณ 3 ปี พยานสองคนนั้นจึงได้ลงชื่อเป็นพยานในสัญญากู้

มาตรา 9 วรรคสาม บัญญัติว่า “การพิมพ์นิ้วมือ แกงได หรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี ทำลงในเอกสาร หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ท่านว่าเสมอกับลงลายมือชื่อ” ดังนี้ จะเห็นได้ว่า ตามที่กฎหมายใช้ถ้อยคำว่า “หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว” นั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจอยู่ในตัวว่า พยานที่ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือ จะต้องเป็นผู้ที่ได้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือจริง ๆ มิใช่ว่าใคร ๆที่มิได้รู้เห็นก็มาลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือนั้นได้ถ้าหากมาลงลายมือชื่อรับรองในภายหลังจะเป็นการรับรองโดยพยานไม่อาจจำได้ว่าผู้ที่ตนเคยเห็นพิมพ์นิ้วมือนั้นมีลวดลายในนิ้วมืออย่างไรบ้าง พยานจะลงลายมือชื่อรับรองในภายหลังได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้รู้เห็นและยินยอม ศาลฎีกาได้พร้อมกันประชุมใหญ่แล้วเห็นว่าผู้ที่ลงชื่อเป็นพยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้ไม่ต้องลงชื่อรับรองในขณะนั้นได้ก็ต่อเมื่อผู้กู้รู้เห็นและยินยอมด้วย ดังนี้พยานที่ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือผู้กู้ในคดีนี้ จึงไม่มีฐานะเป็นพยานตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะพยานมิได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ในขณะมีการพิมพ์ลายนิ้วมือและผู้กู้มิได้รู้เห็นยินยอมตอนที่พยานลงลายมือชื่อเป็นพยานจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลายมือชื่อผู้กู้ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์จริงตามฟ้องหรือไม่ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share