คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1015/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ฟ้อง บ.หาว่าบุกรุกที่นามือเปล่าของตน ขอให้ห้ามมิให้เกี่ยวข้อง บ.ต่อสู้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ. ในระหว่างพิจารณาศาลสั่งให้ประมูลค่าเช่านาพิพาทสำหรับปีนั้น (พ.ศ.2486) ฝ่ายใดให้ค่าเช่าสูงก็จะได้ทำนา ให้นำเงินค่าเช่ามาวางศาลไว้ ชำระให้ผู้ชนะคดี จำเลยเป็นฝ่ายประมูลได้ ได้เข้าทำนาพิพาท ปีต่อมาจำเลยก็ทำนาพิพาทอีกโดยไม่ยอมประมูลค่าเช่าและเป็นฝ่ายทำนาพิพาทตลอดมา ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อพ.ศ.2500 ซึ่งวินิจฉัยว่าฟังไม่ได้ว่าที่พิพาทเป็นของ พ. พิพากษายืนให้ยกฟ้อง วันที่ 10 ตุลาคม 2503 บ.จึงร้องต่อศาลว่า พ.ยังไม่ออกจากที่พิพาท ขอให้เรียกมาว่ากล่าว พ.แถลงว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลยโดยทางครอบครองปรปักษ์แล้วตั้งแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลให้ บ.ทราบ ดังนี้การที่พ.ครอบครองที่พิพาทในระหว่างเป็นความกันอยู่ จะถือว่าครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ได้ การที่ได้เข้าครอบครองในพ.ศ.2506 ก็โดยการประมูลทำนาได้ คือ โดยความยินยอมของ บ. ค่าเช่าที่วางศาลก็เพื่อให้แก่ผู้ชนะคดี จึงถือว่าเข้าครอบครองแทนผู้ชนะคดีนั่นเอง เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษายกฟ้องของ พ. แม้จะไม่ได้ชี้ว่าที่พิพาทเป็นของ บ. แต่ พ. ก็เถึยงไม่ได้ว่า
บ.ไม่ได้เป็นเจ้าของที่พิพาท เพราะผลของคำพิพากษาย่อมผูกพัน พ. ว่า บ.มิสิทธิในที่พิพาทดีกว่า การที่ พ.ครอบครองที่พิพาทภายหลัง่จกาวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาจากการครอบครองในระหว่างคดี ต้องถือว่าครอบครองแทน บ.ผู้ชนะคดีอยู่นั่นเอง จะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครองในเมื่อ พ.มิได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือหรืออาศัยอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก พ.จะอ้างอายุความการแบ่งการครอบครองตามมาตรา 1395 มาใช้ยัน บ. ไม่ได้ บ.มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครอง
การที่ พ.เข้าทำนาพิพาทนับแต่ พ.ศ.2497 นั้น มิได้ตกลงประมูลค่าเช่ากับ บ.อีกจึงไม่ใช่เนื่องจากสัญญา แต่ก็ไม่เป็นการละเมิดเพราะเข้าครอบครองทำนาพิพาทด้วยความยินยอมของ บ.มาแต่ พ.ศ.2496 และการครอบครองในปีต่อ ๆ มา ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทน บ. ผู้ชนะคดี การที่ บ.ฟ้องเรียกเงินผลประโยชน์ในการที่ พ.ได้ครอบครองที่พิพาทตั้งแต่ปีพ.ศ.2497 เป็นต้นไปนั้น จึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 เพราะการที่ พ.ได้รับประโยชน์จากการเข้าทำนาพิพาทซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นของบ.นั้น เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่ บ.ต้องฟ้องเรียกเอาภายในกำหนด 1 ปีนับแต่สิ้นฤดูเก็บเกี่ยวฯของแต่ละปี ซึ่ง บ.ย่อมจะรู้ได้แล้วว่า ผู้ทำนาได้รับประโยชน์จากการทำนาเท่าใด ส่วนเงินผลประโยชน์สำหรับระยะเวลาที่พ้นกำหนด 1 ปีแล้ว ย่อมขาดอายุความเรียกคืน

ย่อยาว

คดีได้ความว่า จำเลยเคยฟ้องโจทก์ตามคดีแดงที่ ๑๙๘/๒๔๙๗หาว่าบุกรุกที่นาพิพาทซึ่งเป็นที่มือเปล่า ขอให้ห้ามมิให้เกี่ยวข้อง โจทก์ให้การว่านาพิพาทเป็นของโจทก์ ในระหว่างพิจารณาโจทก์ร้องว่าจำเลยขัดขวางมิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่พิพาท ศาลสั่งให้ประมูลค่าเช่านาพิพาทเฉพาะปีนั้น คือ พ.ศ.๒๔๙๖ จำเลยประมูลได้โดยใช้ค่าเช่า ๑,๐๐๐ บาท และได้วางเงินค่าเช่าต่อศาล ๆ จึงให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่นาพิพาท ในพ.ศ.๒๔๙๗ โจทก์ขอให้ประมูลอีก จำเลยว่าปีนี้จำเลยเข้าทำนาแล้วจึงไม่ติดใจประมูล ศาลสั่งยกคำขอของโจทก์ คดีนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของจำเลย ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ร้องอีกว่า จำเลยเข้าแย่งทำนาพิพาท ขอให้ห้ามจำเลยหรือให้มาตกลงเรื่องผลประโยชน์ในที่นาพิพาท จำเลยรับว่าเข้าทำนาจริงและไม่ยอมออก คดีนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แลต่อมาศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า ตามหลักฐานพยานจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลย พิพากษายืน ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๐ ฝ่ายโจทก์ไม่ไปศาล ศาลสั่งว่าถือว่าโจทก์ได้ฟังแล้ว วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๐๓ โจทก์ขอคำบังคับให้จำเลยใช้ค่าทนาย วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๐๓
โจทก์ร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ศาลฎีกาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยยังไม่ออกจากที่นาพิพาท ขอให้เรียกมาว่ากล่าวให้ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล จำเลยแถลงว่าที่นาพิพาทเป็นของจำเลยโดยทางครอบครองปรปักษ์นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ศาลให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อ ๒๐ มีนาคม ๒๕๐๔ โดยกล่าว ด้วยว่าในปีต่อมาจำเลยยังคงทำนาพิพาทโดยอาศัยสิทธิการประมูลค่าเช่าในปี พ.ศ.๒๔๙๖ บัดนี้ จำเลยไม่ยอมออกไปจากนาพิพาท และไม่ชำระค่าเช่ามา ๗ ปี ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ให้ขับไล่จำเลยกับบริวาร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยคิดตามอัตราค่าเช่าที่ประมูลปีละ ๑,๐๐๐ บาท รวม ๗,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยทำนาพิพาทตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๔ รวม ๗ ปีโดยเจตนายึดถือเพื่อตนเอง แม้การทำนาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ถึง ๑๕ สิงหาคม ๒๕๐๐เป็นการครอบครองทรัพย์ระหว่างคดี แต่การทำนาพิพาทตั้งแต่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๐๐ ตลอดถึง พ.ศ.๒๕๐๔ จำเลยเจตนายึดถือเป็นของตนเองจำเลยได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาท คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเรียกคืน ค่าเสียหายคดีก็ขาดอายุความ หากเรียกได้ ก็เพียงปีเดียวคือ สำหรับพ.ศ.๒๕๐๓
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีที่จำเลยฟ้องโจทก์หาว่าบุกรุกที่พิพาทนั้น จำเลยแพ้โจทก์ จำเลยจะอ้างอายุความแย่งการครอบครอง ๑ ปี มาใช้ไม่ได้ เพราะโจทก์มีสิทธิบังคับคดีภายใน ๑๐ ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗๑ ส่วนค่าเช่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้ ๑ ปีคือ พ.ศ.๒๕๐๓ นอกนั้นขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘ พิพากษาห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่นาพิพาทต่อไป และให้ใช้ค่าเสียหาย ๑,๐๐๐ บาทแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๖ จำเลยเข้าทำนาพิพาทในลักษณะเป็นการยึดถือแทนผู้ชนะคดีในที่สุด ต่อจากวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แม้จำเลยจะยงคงครอบครองที่นาพิพาทอยู่ ลักษณะการยึดถือแทนโจทก์ก็ไม่เปลี่ยนแปลงไปได้ จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๕ มายันโจทก์ไม่ได้ ผลที่สุด พิพากษายืน และมีผู้พิพากษานายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาจำเลยว่า ในระหว่างการพิจารณาคดีแดงที่ ๑๙๘/๒๔๙๗ การครอบครองที่นาพิพาทของจำเลยในระหว่างเป็นความต่อสู้กันอยู่ จะถือว่าจำเลยครอบครองโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหาได้ไม่ การที่จำเลยครอบครองใน พ.ศ.๒๔๙๖ ก็โดยประมูลทำนาได้ คือ โดยความยินยอมของโจทก์ ค่าเช่าที่วางต่อศาลก็เพื่อให้แก่ผู้ชนะคดีในที่สุด จึงถือได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองที่นาพิพาทแทนผู้ชนะคดีในที่สุดนั่นเอง เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลยกฟ้องจำเลย แม้ศาลฎีกาจะไม่ได้ชี้ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยก็เถึยงไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของนาพิพาท เพราะผลของคำพิพากษาฎีกาย่อมผูกพันจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย ค่าเช่านาที่จำเลยวางไว้ก็ตกเป็นของโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของที่นาพิพาท
การครอบครองที่นาพิพาทหลังวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็เป็นการครอบครองสืบต่อมาจากการครอบครองในระหว่างคดี ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดีอยู่นั่นเอง จำเลยจะครอบครองช้านานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง เว้นแต่จำเลยจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๘๑ แต่ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองไปยังโจทก์หรือมีอำนาจใหม่จากบุคคลภายนอก จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัย
เมื่อการครอบครองของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดี จำเลยจะอ้างอายุความการแย่งครอบครอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ มาใช้ยันโจทก์ไม่ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ภายใน ๑๐ ปีนั้นเห็นว่า การที่จำเลยเข้าทำนาพิพาทในพ.ศ.๒๔๙๗ โดยไม่ยอมประมูลค่าเช่าอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะทำนาพิพาทโดยตกลงประมูลค่าเช่ากับโจทก์อีก การทำนาพิพาทตั้งแต่พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมาจึงไม่ใช่เนื่องจากสัญญา และไม่เป็นการละเมิด เพราะจำเลยเข้าครอบครองด้วยความยินยอมของโจทก์มาแต่พ.ศ.๒๔๙๖ และการครอบครองในปีต่อ ๆ มา ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ผู้ชนะคดี กรณีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๐๒ เพราะการที่จำเลยได้รับประโยชน์จากการเข้าทำนาพิพาทซึ่งศาลพิพากษาว่าเป็นของโจทก์ เป็นการได้ทรัพย์มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกคืนจากจำเลย ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้เท่าค่าเช่าที่โจทก์จำเลยเคยตกลงกันคือ ปีละ ๑,๐๐๐ บาท
มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์จะมีสิทธิเรียกเงินผลประโยชน์ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ ถึง ๒๕๐๓ หรือไม่ เห็นว่า เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวการทำนาแต่ละปี เจ้าของนาก็ย่อมจะรู้ได้ว่าผู้ทำนาได้รับประโยชน์จากการทำนาเท่าใด ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องคืนของโจทก์สำหรับปีพ.ศ.๒๔๙๗ ถึงพ.ศ.๒๕๐๒ จึงขาดอายุความเพราะฟ้องเมื่อพ้นกำหนด ๑ ปีนับแต่โจทก์รู้ว่าจำเลยได้รับลาภมิควรได้ไว้(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๑๙) โจทก์มีสิทธิเรียกเงินผลประโยชน์สำหรับพ.ศ.๒๕๐๓ คืนจากจำเลยเพียงปีเดียว
พิพากษายืน

Share