คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็ค 10,000 บาทให้โจทก์โจทก์นำเช็คไปขอรับเงิน ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินเพราะจำเลยไม่มีเงินในบัญชีของธนาคาร ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาปรากฏว่า จำเลยมีเงินในบัญชี 232.32 บาท ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินโดยให้โจทก์ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่าย ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาย่อมแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่ข้อแตกต่างนี้ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ และจำเลยมิได้หลงต่อสู้จำเลยจึงต้องมีความผิดดังโจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้จ่ายเช็คจำนวนเงิน 10,000 บาทให้โจทก์โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงินจากธนาคาร ธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงิน เพราะจำเลยไม่มีเงินในบัญชีของธนาคาร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลย 2 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยมีเงินในธนาคาร 232.32 บาท ฉะนั้นข้อเท็จจริงในฟ้องจึงแตกต่างกับทางพิจารณาในสารสำคัญ ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ซึ่งตามมาตรา 3 นี้มี 5 อนุมาตรา อนุมาตรา 2 มีความว่า ผู้ใดออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้หนี้ได้และข้อความในอนุมาตรา 3 มีใจความว่า ผู้ใดออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดตามมาตรานี้

เรื่องนี้ปรากฏว่า ธนาคารไม่จ่ายเงินตามเช็ค 10,000 บาท ที่จำเลยออกให้โจทก์ โดยทำหนังสือลงวันที่ 16 สิงหาคม 2505 ให้โจทก์ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่าย (คือจำเลย) ซึ่งโจทก์ก็ได้ให้ทนายทวงหนี้ตามเช็คนั้นจากจำเลยแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ฟ้องโจทก์จะกล่าวว่าจำเลยไม่มีเงินในบัญชี แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีไม่พอจ่าย ดังนี้ ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาย่อมแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องแน่แต่ข้อแตกต่างนี้ก็ไม่ใช่ข้อสารสำคัญ และจะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองแต่อย่างใด จำเลยนำสืบก็รับว่าได้ออกเช็ครายนี้ให้โจทก์ เป็นแต่แก้ว่าเพื่อประกันการซื้อปลาทะเลที่จำเลยซื้อจากโจทก์ โดยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ 10,000 บาท ซึ่งโจทก์เองจะทราบได้อย่างไรว่าจำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่มี แต่ฝ่ายจำเลยย่อมทราบดีว่า แม้ตนจะมีเงินในบัญชีก็มีเพียงจำนวนเล็กน้อย ซึ่งในเรื่องนี้จำเลยมีเงินในบัญชีเพียง 232.33 บาท อันเป็นจำนวนที่ไม่พอจ่ายตามเช็คที่ออกให้โจทก์อยู่นั่นเอง จำเลยจึงต้องมีความผิดดังโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฎีกาจำเลย

พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share