แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินของลูกหนี้แปลงหนึ่ง เป็นที่ดินมีโฉนด ลูกหนี้ได้แยกที่งอกริมตลิ่งของที่ดินแปลงนี้ไปแจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.1ไว้ ในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแยกขายที่ดินตามโฉนดกับที่งอกริมตลิ่งของที่ดินตามโฉนดนั้นเป็นคนละแปลงได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 123
ผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แยกขายที่ดินดังกล่าวออกเป็น 2 แปลงและได้ซื้อเฉพาะที่มีโฉนดไว้เพียงแปลงเดียวผู้ร้องจะอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ที่งอกริมตลิ่งซึ่งแยกขายเป็นอีกแปลงหนึ่งนั้นไม่ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ได้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 จากจำเลย ต่อมาได้ซื้อที่แปลงนี้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2505 และได้รับโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศลงวันที่ 7 มกราคม 2506 จะขายทอดตลาดที่ดินตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 ที่แปลงนี้เป็นที่งอกริมตลิ่งของที่ดินซึ่งโจทก์ซื้อจากการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่งอกริมตลิ่งแปลงนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ผู้ร้องได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดที่พิพาทแปลงนี้แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจึงขอให้ศาลสั่งงดการขายทอดตลาด
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แถลงคัดค้านว่า ที่ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 นั้น ได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศขายทอดตลาดเป็นคนละแปลงโดยแจ้งชัด ผู้ร้องได้ตกลงซื้อเฉพาะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3915 เพียงแปลงเดียว จึงได้กรรมสิทธิเฉพาะแปลงที่ซื้อไว้เท่านั้น ไม่รวมถึงที่ ส.ค.1 แปลงพิพาทด้วย ขอให้ศาลสั่งยกคำร้อง
วันนัดพร้อม ผู้ร้องรับว่าได้ไปร่วมในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและได้ทราบข้อความในประกาศขายทอดตลาดก่อนขายทอดตลาด
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3915 ติดจำนองผู้ร้องทั้งแปลงรวมทั้งที่งอกริมตลิ่งด้วย การขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3915 ย่อมหมายรวมถึงที่งอกริมตลิ่งด้วย การที่จำเลยแจ้งการครอบครองที่งอกไว้ต่างหากจะถือว่าได้แยกที่ดินออกเป็นส่วนเป็นสัดให้พ้นการจำนองไม่ได้ แม้เจ้าพนักงานจะแยกขายที่ดินได้ ก็ต้องขายที่งอกริมตลิ่งอย่างมีภารจำนองติดไปด้วย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อเจ้าพนักงานไปยึดทรัพย์ของจำเลย ได้แยกการยึดที่ดินตามโฉนดเลขที่ 3915 กับที่ดินตามใบส.ค.1 เลขที่ 137/2500 ไว้คนละอันดับในประกาศขายทอดตลาดก็แยกกันไว้คนละอันดับ ขณะประชุมเจ้าหนี้ของผู้ล้มละลาย ผู้ร้องก็ไปร่วมด้วยและได้ทราบประกาศขายทอดตลาดที่แยกที่ดิน 2 รายการนี้ออกเป็น 2 แปลงก่อนการขายทอดตลาดได้กำหนดขายในวันเวลาเดียวกัน ผู้ร้องประมูลซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 ได้ แต่ที่ดินตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 มีผู้ให้ราคาต่ำ จึงได้งดการขายไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 จะติดการจำนองผู้ร้องรวมถึงที่งอกริมตลิ่งตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างก็ตามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจแยกขายเป็นคนละแปลงได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 123 ตามประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 ก็บอกจำนวนเนื้อที่ชัดเจนว่ามี 50 ตารางวาและที่งอกตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 มีเนื้อที่ 3 งาน 3 ตารางวาแยกกันเป็นคนละแปลง ผู้ร้องก็รู้ดีอยู่แล้ว ไม่มีทางที่ผู้ร้องจะเข้าใจว่าการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 นั้น รวมถึงที่งอกตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500ด้วย เมื่อความปรากฏว่าผู้ร้องซื้อเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 3915 ก็ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินตามโฉนดเท่านั้นจะถือเอาประโยชน์จากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 ผนวกที่งอกตามใบ ส.ค.1 เลขที่ 137/2500 ที่เจ้าพนักงานประกาศขายเป็นอีกแปลงหนึ่งต่างหากเป็นของตนด้วยไม่ได้ตามที่ผู้ร้องอ้างว่า การที่จำเลยแจ้งการครอบครองที่งอกริมตลิ่งไว้ต่างหากจะถือว่าได้แยกที่ดินออกเป็นส่วนเป็นสัดให้พ้นภาระจำนองไม่ได้แม้เจ้าพนักงานจะแยกขายที่ดินได้ ก็ต้องขายที่งอกริมตลิ่งอย่างมีการจำนองติดไปด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แยกที่งอกริมตลิ่งไปขายต่างหากเช่นนี้ จะทำให้ที่แปลงนี้มีภาระจำนองติดอยู่หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคู่ความมิได้ว่ากล่าวกันมาแต่ต้น จึงรับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์