คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “ยอมความกัน” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) หมายถึงการยอมความในทางอาญาเท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อมีการยอมความกันไม่ว่าจะในเรื่องใดแล้ว จะทำให้คดีอาญาต้องระงับไปด้วย เมื่อยังไม่มีข้อตกลงให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352, 354, 83

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ได้นำเงินส่วนที่ตนยักยอกไปจำนวน 217,224 บาท มาคืนให้แก่ผู้เสียหายผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 และยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ และผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดยะลาขอให้ชดใช้เงินจำนวน 1,024,165.17 บาท ซึ่งเป็นมูลหนี้เดียวกับคดีนี้แก่โจทก์ร่วมโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลจังหวัดยะลาได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไปแล้ว ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ร่วมย่อมระงับไปด้วยขอให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความด้วย

โจทก์และโจทก์ร่วมแถลงรับว่ามูลหนี้ในคดีนี้กับคดีแพ่งที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนั้นเป็นมูลหนี้เดียวกันจริง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งแล้วย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องของแต่ละฝ่ายที่ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญา เมื่อคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวสิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี (สำหรับจำเลยที่ 1) เสียจากสารบบความด้วย

โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 เสียจากสารบบความและยกคำร้องฉบับลงวันที่ 14กรกฎาคม 2541 ของจำเลยที่ 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ต่อไป

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1เป็นปัญหาข้อกฎหมายข้อเดียวว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1ของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ได้ความว่าผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เฉพาะจำเลยที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2ออกจากสารบบความแล้ว หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงได้เข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกไว้ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้ถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งยังเป็นจำเลยคดีนี้อยู่ สัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ร่วมทำกับจำเลยที่ 1 กับพวกในคดีแพ่ง ไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในทางอาญาอีกต่อไป เห็นว่า การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ “ยอมความกัน”ตามมาตรา 39(2) ดังกล่าวข้างต้นเพราะคำว่า “ยอมความกัน” ในมาตราดังกล่าวหมายถึงการยอมความในทางอาญาเท่านั้น มิได้หมายความว่าเมื่อมีการยอมความกันไม่ว่าจะในเรื่องใดแล้ว จะทำให้คดีอาญาต้องระงับไปด้วย เมื่อยังไม่มีข้อตกลงให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในทางอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไปเพราะเหตุยอมความกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)

พิพากษายืน

Share