คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานในวันที่ 6ตุลาคม 2540 เวลา 8 นาฬิกาเศษ โดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย โจทก์ทั้งหกสิบสองก็ระบุในฟ้องอย่างชัดแจ้งว่าได้นัดหยุดงานในวันที่ 6 ตุลาคม2540 เวลา 8 นาฬิกา โดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม2540 เวลา 15 นาฬิกา อันเป็นการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง ที่โจทก์ทั้งหกสิบสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามกฎหมายแล้ว เพราะได้ยื่นหนังสือแจ้งนัดหยุดงานต่อนางสาวสายัณห์ พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 7 นาฬิกาเศษ ซึ่งแตกต่างจากที่ระบุในฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบสองจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31
การนัดหยุดงานเป็นเรื่องที่ลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานต่างละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติ และย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง กฎหมายจึงต้องบัญญัติไว้ว่า ลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้ายการนัดหยุดงานของลูกจ้างจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้ออ้างของลูกจ้างที่ว่าเข้าใจว่าเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบด้วยขั้นตอนตามกฎหมายและมิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายถือว่ามีเหตุสมควรตามกฎหมายที่ได้มีการนัดหยุดงานสามวันติดต่อกันจึงรับฟังมิได้
การนัดหยุดงานของลูกจ้างเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัว เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันจึงถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

ย่อยาว

คดีทั้งหกสิบสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 62 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย

โจทก์ทั้งหกสิบสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองเป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการกลั่นแกล้งทำให้โจทก์ทั้งหกสิบสองเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งหกสิบสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างและวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งหกสิบสองสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งหกสิบสองเคยเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยแต่ละคนมีวันเดือนปีที่เข้าทำงานและค่าจ้างตามฟ้องจริง ยกเว้นโจทก์ที่ 4 สหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์ ที่โจทก์ทั้งหกสิบสองเป็นสมาชิกได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย และจำเลยก็ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์ จนเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ที่โจทก์ทั้งหกสิบสองอ้างว่าสหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์ มีหนังสือแจ้งการนัดหยุดงานฉบับลงวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 15 นาฬิกา และอ้างว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการนัดหยุดงานดังกล่าวในเวลาที่ยื่นนั้นไม่เป็นความจริง ในวันและเวลาที่โจทก์ทั้งหกสิบสองกล่าวอ้างเป็นวันอาทิตย์ อันเป็นวันหยุดทำการของจำเลย ในวันดังกล่าวไม่มีผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยเข้ามาปฏิบัติงาน เมื่อวันเปิดทำการคือวันจันทร์รุ่งขึ้น เวลาประมาณ 7.30นาฬิกา จำเลยโดยนายอนุสรณ์ เทพสาร ผู้จัดการฝ่ายบริหารได้รับหนังสือแจ้งการนัดหยุดงานจากพนักงานรักษาความปลอดภัย วันดังกล่าวโจทก์ทั้งหกสิบสองได้ตอกบัตรบันทึกเวลาเข้าทำงานตามปกติจนถึงเวลาประมาณ 8.10 นาฬิกา กรรมการสหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์ ได้ยุยงให้โจทก์ทั้งหกสิบสองผละงาน จงใจละทิ้งหน้าที่เพื่อออกมาประท้วงที่หน้าบริษัทจำเลยทำให้จำเลยเสียหาย สหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์ แจ้งการใช้สิทธินัดหยุดงานไม่ครบยี่สิบสี่ชั่วโมง การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานเอช. อาร์. ซิลไวน์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหกสิบสองหยุดงานติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2540 เวลา 17 นาฬิกา ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ประกาศปิดงานของจำเลยมีผล การผละงานของโจทก์ทั้งหกสิบสองตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 10 ตุลาคม 2540 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เกินกว่าสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยการที่โจทก์ทั้งหกสิบสองจงใจละทิ้งหน้าที่จนถึงวันที่จำเลยปิดงานเป็นการจงใจทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ทั้งหกสิบสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยจำนวน 44,500,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้จำเลยเสร็จ

โจทก์ทั้งหกสิบสองสำนวนให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง

โจทก์ทั้งหกสิบสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2540 เวลา 8 นาฬิกาเศษโดยไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 34 วรรคท้าย ซึ่งโจทก์ทั้งหกสิบสองก็ระบุในฟ้องอย่างชัดแจ้งว่าได้นัดหยุดงานในวันที่ 6 ตุลาคม 2540 เวลา 8 นาฬิกา โดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 15 นาฬิกา อันเป็นการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลาไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้ง ที่โจทก์ทั้งหกสิบสองอุทธรณ์ประการแรกว่า โจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยแจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามกฎหมายแล้ว เพราะได้ยื่นหนังสือแจ้งนัดหยุดงานต่อนางสาวสายัณห์พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยในวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เวลา 7 นาฬิกาเศษซึ่งแตกต่างจากที่ระบุในฟ้องดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบสองข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกสิบสองประการที่สองที่ว่า แม้โจทก์ทั้งหกสิบสองจะไม่ได้ทำงานสามวันติดต่อกันก็เพราะเข้าใจว่าเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบด้วยขั้นตอนของกฎหมาย มิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายกรณีย่อมแปลความหมายได้ว่ามีเหตุสมควรตามกฎหมายที่ได้มีการนัดหยุดงานสามวันติดต่อกันทั้งตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางก็วินิจฉัยแต่เพียงว่าการที่โจทก์ทั้งหกสิบสองหยุดงานจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ ขาดงานสามวันติดต่อกันโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุอันสมควร ไม่เข้ากรณีที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาในแง่ของการกระทำแล้ว การนัดหยุดงานเป็นเรื่องที่ลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานต่างละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติ และย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง ดังนั้น กฎหมายจึงต้องบัญญัติไว้ว่า ลูกจ้างจะนัดหยุดงานได้ต่อเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งเป็นหนังสือให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่รับแจ้งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 34 วรรคท้าย การนัดหยุดงานของโจทก์ทั้งหกสิบสองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งโจทก์ทั้งหกสิบสองก็ทราบเรื่องนี้ดีเพราะตามฟ้องก็ระบุเช่นนั้นข้ออ้างของโจทก์ทั้งหกสิบสองที่ว่าเข้าใจว่าเป็นการนัดหยุดงานโดยชอบด้วยขั้นตอนตามกฎหมายและมิได้มีเจตนาจะฝ่าฝืนกฎหมายถือว่ามีเหตุสมควรตามกฎหมายทีได้มีการนัดหยุดงานสามวันติดต่อกันนั้นฟังไม่ขึ้น และแม้ว่าศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยเพียงว่า การที่โจทก์ทั้งหกสิบสองหยุดงานจึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ ขาดงานสามวันติดต่อกันโดยไม่ได้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุอันสมควรก็ตามแต่ศาลแรงงานกลางก็ได้วินิจฉัยไว้ด้วยว่า การนัดหยุดงานของโจทก์ทั้งหกสิบสองเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการนัดหยุดงานนั้นเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัว และโจทก์ทั้งหกสิบสองนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน จึงถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรด้วย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งหกสิบสองโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกสิบสองนั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share