คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 นั้น จะเป็นความผิดต่อเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค อันเป็นองค์ประกอบของความผิด ฉะนั้นเพียงแต่ผู้จัดการธนาคารติดต่อให้ผู้ออกเช็คเอาเงินเข้าบัญชีแล้วไม่ได้ผลจึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเช่นนี้ จึงยังเอาผิดแก่ผู้ออกเช็คไม่ได้ ถึงหากธนาคารนั้นจะเป็นผู้ทรงเช็คเองก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๐๓ จำเลยออกเช็คของธนาคารมณฑล จำกัด สาขาจังหวัดชลบุรี ๒ ฉบับ สั่งจ่ายฉบับละ ๒๐,๐๐๐ บาทให้แก่ผู้ถือ ลงวันที่ล่วงหน้า คือ ให้จ่ายเงินวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓ โดยขณะออกเช็ค จำเลยมีเงินในบัญชี ๒๒,๒๐๐ บาท ไม่พอจ่าย และโดยเจตนาจะไม่ให้มีการจ่ายเงินตามเช็คธนาคารดังกล่าวรับซื้อเช็คทั้ง ๒ ฉบับไว้จากพวกจำเลย แล้วจำเลยมีเจตนาทุจริตถอนเงินคงเหลือในบัญชีในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๐๓ ซึ่งเช็คถึงกำหนดเพียง ๒๐๐ บาท พระยาศรีมหาเกษตร์ผู้จัดการธนาคารดังกล่าวได้นำเช็คทั้ง ๒ ฉบับขอขึ้นเงินที่ธนาคารดังกล่าว ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เพราะเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ลงโทษจำคุก ๒ เดือนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา ๓
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้เมื่อเช็คถึงกำหนด จำเลยมีเงินฝากเพียง ๒๐๐ บาทก็ดี แต่ตามหลักฐานไม่ปรากฎว่าธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คของจำเลยในเรื่องความผิดเรื่องใช้เช็คไม่มีเงินนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ นั้น จะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อธนาคารที่จำเลยออกเช็คปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย คดีคงปรากฎตามคำเบิกความของผู้จัดการธนาคารผู้เสียหายเพียงว่า เมื่อเช็คถึงกำหนดได้ติดต่อกับจำเลยให้เอาเงินเข้าบัญชีก็ไม่ได้ผล จึงได้นำเช็คไปแจ้งความและร้องทุกข์ดำเนินคดีดังนี้ จึงเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้ ถึงหากธนาคารนั้นจะเป็นผู้ทรงเช็คเองก็ตาม เพราะตามกฎหมายไม่มีข้อยกเว้นไว้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๖๒/๒๕๐๔ พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์

Share