คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2695/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ใช้สอยลูกจ้างของจำเลยซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไปจ่ายกับข้าวให้แก่ร้านขายอาหาร ในเวลาทำงานช่วงเช้าคนหนึ่งและช่วงบ่ายคนหนึ่ง เป็นเวลานานประมาณ 10 วัน เป็นการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์แก่ตนหรือผู้อื่น เกินสมควรที่ผู้บังคับบัญชาจะพึงกระทำและเสียหายแก่นายจ้าง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการเลิกจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อ 47(1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน และกรณีลูกจ้างกระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลธุรการ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏสาเหตุและไม่ปรากฏความผิดเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาของนายสมนึก และนายพะโยมพนักงานรักษาความปลอดภัย โจทก์ได้สั่งให้พนักงานทั้งสองคนละทิ้งหน้าที่ไปปฏิบัติงานในธุรกิจการค้าขายอาหารส่วนตัวของโจทก์เป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่และเป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ใช้สอยลูกจ้างของจำเลยซึ่งลูกจ้างนั้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ไปจ่ายกับข้าวให้แก่ร้านขายอาหารในเวลาทำงานช่วงเช้าคนหนึ่งและช่วงบ่ายคนหนึ่ง เป็นเวลานานประมาณ 10 วันเป็นการแสวงหาประโยชน์จากหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์แก่กตนเองหรือผู้อื่นเกินสมควรที่ผู้บังคับบัญชาจะพึงกระทำและเสียหายแก่นายจ้าง ถือว่าทุจริตต่อหน้าที่ โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการกระทำผิดหน้าที่ของลูกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และการเลิกจ้างในกรณีนี้เป็นการเลิกจ้างในกรณีทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อ 47(1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และกรณีลูกจ้างกระทำการไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

Share