คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 965/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์เป็นคำฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) ซึ่งมาตรา 70 ที่ใช้บังคับในขณะนั้นก่อนมีการแก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้โจทก์จัดการนำส่ง จำเลยเป็นผู้อุทธรณ์ถือว่าจำเลยเป็นโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้น สั่งให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำส่ง สำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นการทิ้งฟ้องตาม มาตรา 174(2) ซึ่งตามมาตรา 132(1) ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลมตามมาตรา 246 แม้จำเลยวางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์แล้วจำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ไปส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ เมื่อไม่จัดการนำส่งภายในเวลา ที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็ชอบที่ศาลจะจำหน่ายคดีเสียได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากตึกแถวของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 6,250 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากตึกพิพาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์จึงให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นเป็นผู้นำส่ง ไม่ใช่หน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้อุทธรณ์เป็นผู้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วัน จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาและศาลอุทธรณ์จะนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะของศาลชั้นต้นมาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นการทิ้งฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยได้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยวิธีวางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ศาลเป็นเงิน 70 บาทแล้วเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ศาลเองที่ละเลยไม่นำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งหาใช่ความผิดของจำเลยไม่
พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือไม่ว่าจะได้เสนอต่อศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอหรือเสนอในภายหลังโดยคำฟ้องเพิ่มเติมหรือแก้ไขหรือฟ้องแย้งหรือโดยสอดเข้ามาในคดีไม่ว่าด้วยสมัครใจหรือถูกบังคับหรือโดยมีคำขอให้พิจารณาใหม่ ดังนั้น อุทธรณ์จึงเป็นคำฟ้องตามนัยแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 70 วรรคสอง ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น บัญญัติว่า คำฟ้องนั้นให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนำส่ง คดีนี้จำเลยเป็นผู้อุทธรณ์ถือว่าจำเลยเป็นโจทก์ในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132(1)บัญญัติว่า ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนี้ บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวนี้อยู่ในบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นและมิได้มีบัญญัติไว้ในลักษณะว่าด้วยอุทธรณ์จึงนำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลมตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246บัญญัติไว้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความจึงชอบแล้ว ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้วางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ศาลแล้วเป็นเงิน 70 บาทนั้น เห็นว่าตามกฎหมายกำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์มีหน้าที่จัดการนำส่งคำฟ้องอุทธรณ์ดังวินิจฉัยมาแล้ว แม้จะฟังว่าจำเลยวางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์แล้วจำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ศาลไปส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยไม่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็ชอบที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 600 บาทแทนโจทก์

Share