คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1973/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทมีผู้สั่งจ่ายสองนายลงนามร่วมกันโอนเช็คให้ผู้ทรงเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ทรงรับโอนเช็คโดยคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้สั่งจ่ายคนใดคนหนึ่งแล้วผู้สั่งจ่ายทั้งสองก็ต้องรับผิดชดใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989, 914 ผู้สั่งจ่ายจะยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างกันเองปฏิเสธความรับผิดไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ ๒เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ เคยเป็นผู้ถือหุ้นในห้างจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๒ ได้นำเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๒ สั่งจ่ายเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายประทับตราจำเลยที่ ๑ มาแลกเงินสดไปจากโจทก์ ครั้นเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้ โจทก์ทวงถาม จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ขายหุ้นในห้างจำเลยที่ ๑ ให้กับจำเลยที่ ๒ และผู้มีชื่อไปตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑ เช็คพิพาทจำเลยที่ ๓ ลงนามไว้โดยมิได้กรอกข้อความเพื่อประโยชน์แก่การดำเนินการของห้างจำเลยที่ ๑ แล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เอาเช็คดังกล่าวมากรอกข้อความ จำนวนเงินและวันที่สั่งจ่ายและเพทุบายว่าจำเลยที่ ๒ เอาเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์เพื่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นเช็คพิพาทจึงปราศจากมูลหนี้ โจทก์รับโอนไว้โดยไม่สุจริตและฉ้อฉลจำเลยที่ ๓ คดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์ ๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ ๓ ฎีกาว่าไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทเพราะขณะที่จำเลยที่ ๒ นำเช็คดังกล่าวออกใช้ จำเลยที่ ๓ ได้ออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ ๑ โดยขายหุ้นให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปหมดแล้วนั้นเห็นว่าการปฏิเสธความรับผิดในลักษณะดังกล่าว เป็นการอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนเองกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายอีกคนหนึ่ง จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ได้เฉพาะกรณีการโอนมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๘๙, ๙๑๖ เท่านั้น แต่คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยสุจริตและไม่มีการโอนคบคิดกันฉ้อฉล จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดใช้เงินตามเช็คดังกล่าวแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๙๘๙, ๙๑๔
พิพากษายืน

Share