คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3183/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นอกจากจะต้องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้ว ต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมอย่างไรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ด้วย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อ้างว่าประมูลซื้อมาจากการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในฐานะที่โจทก์เป็นกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี และไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากการดำเนินการตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนรวม การถือหน่วยลงทุน การจดทะเบียนกองทุนรวมต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตลอดจนการลงนามในสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ดังนี้ หากศาลรับฟังและวินิจฉัยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์และการลงนามในสัญญาขายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่อ้างว่าประมูลซื้อมาได้และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์ยังคงมีอยู่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผู้รับจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนได้เสียถึงกับจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์จึงไม่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่อาจฟ้องแย้งรวมเข้ามาในคำให้การได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม
ฟ้องแย้งเป็นคำคู่ความซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 18 ถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสามที่ว่า ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับฟ้องแย้งอันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงไม่มีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมซึ่งได้จดทะเบียนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน รวมทั้งมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 4 เป็นทายาทโดยธรรมเป็นมารดาของนายถนอม อังคณะวัฒนา เดิมเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้ขอสินเชื่อและทำคำขอกู้เงินโดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 1,200,000 บาท โดยจำนองห้องชุด 4 ห้อง ในอาคารชุดพาร์คบีชคอนโดมิเนียมซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 695 และ 31673 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมส่วนควบเป็นประกันการชำระหนี้ และมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายถนอมเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 กู้เงินและออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หลายครั้งหลายฉบับ และยังคงค้างชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 13 มีนาคม 2540 จำนวนเงิน 7,000,000 บาท ใช้เงินเมื่อทวงถาม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 30 ต่อปี ต่อมาองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเข้าควบคุมการดำเนินกิจการและนำทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ออกจำหน่าย และดำเนินการชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 โจทก์เป็นผู้ชนะการประมูล จึงได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มีต่อจำเลยทั้งสี่รวมทั้งสิทธิในหลักประกัน และโจทก์ได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ โดยรับว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้เงินต้นแก่โจทก์ 7,000,000 บาท กับดอกเบี้ย 6,939,205.55 บาท และขอผ่อนปรนโดยตกลงชำระเงินต้น 7,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปีนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2542 จนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วน แต่ทั้งนี้ต้องชำระหนี้ทั้งหมดไม่เกินวันที่ 30 พฤษภาคม 2545 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้ว โจทก์ตกลงจะปลดหนี้ที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 แต่หากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ให้ถือว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการปลดหนี้เป็นอันยกเลิก หลังจากทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดโดยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 เป็นเงิน 3,600,000 บาท ซึ่งปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระเงินต้น 7,000,000 บาท กับดอกเบี้ย 3,359,342.54 บาท นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 5,191,315.07 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 15,550,657.61 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 15,550,657.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปีของเงินต้น 7,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่จนครบ
จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย จำกัด ไม่มีอำนาจจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโจทก์ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนรวม การจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมิได้จดทะเบียนภายใน 1 ปี นับถัดจากวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และผู้ซื้อหน่วยลงทุนบางรายถือหน่วยลงทุนเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด อันเป็นการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว การจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์จึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล และไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีได้ สิทธิเรียกร้องที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้บริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลต้องการเสนอให้ผู้อื่นลงนามในสัญญาขายแทน จะต้องระบุชื่อพร้อมกับยื่นเอกสารของผู้ที่จะลงนามในสัญญาขายเสนอต่อองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินภายใน 2 วัน นับจากวันประมูล คือภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2542 ซึ่งขณะนั้นโจทก์ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนกองทุนรวม โจทก์ไม่อาจลงนามในสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในเวลาต่อมาได้สัญญาขายจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจึงยังไม่ถึงกำหนดฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือสัญญาจำนอง หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายโดยถูกโต้แย้งสิทธิจากการจดทะเบียนกองทุนรวมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ขอให้ยกฟ้อง และเพิกถอนการจดทะเบียนกองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 3 โจทก์ในคดีนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 3 ส่วนฟ้องแย้งศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และให้คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่จำเลยที่ 3
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาต แต่การที่โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน และศาลชั้นต้นสั่งให้แยกส่งสำนวนที่เกี่ยวข้องไปยังศาลฎีกา พออนุโลมได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการฟ้องแย้งนั้นนอกจากจะต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้ว ต้องเป็นคำฟ้องที่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมอย่างไรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ด้วย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่โจทก์อ้างว่าประมูลซื้อมาจากการขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ในฐานะที่โจทก์เป็นกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้คดีในสาระสำคัญที่นำมาสู่การฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจเป็นโจทก์ฟ้องคดี และไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากการดำเนินการตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนรวม การถือหน่วยลงทุนการจดทะเบียนกองทุนรวมต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนการลงนามในสัญญาขายกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ดังนี้ หากศาลรับฟังและวินิจฉัยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์และการลงนามในสัญญาขายเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องขอให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องที่อ้างว่าประมูลซื้อมาได้ และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องอยู่แล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์ยังคงมีอยู่หรือไม่ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ผู้รับจดทะเบียนซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 3 มิได้มีส่วนได้เสียถึงกับจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกองทุนรวมโจทก์จึงไม่มีสภาพแห่งข้อหาว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่อาจฟ้องแย้งรวมเข้ามาในคำให้การคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และแม้ว่าศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฟ้องแย้งโดยมิได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหากตามถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสาม ก็ตาม แต่ฟ้องแย้งเป็นคำคู่ความซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจตรวจและมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 177 วรรคสามที่ว่า ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงมีผลเท่ากับเป็นการสั่งไม่รับฟ้องแย้งอันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 นั่นเอง การที่ศาลชั้นต้นมิได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหาก จึงไม่มีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งไม่มีเหตุที่จะต้องกำหนดเวลาเพื่อให้จำเลยที่ 3 ฟ้องเป็นคดีต่างหากตามที่ขอมาในอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share