แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมี ท. บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่โจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วในขณะฟ้อง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย ท. ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่ ท. ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลจึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 จึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อน แต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถไถนาเดินตามชนิดมีกระบะพ่วงท้ายแล่นไปตามถนนสายบ้านกันจาน – บ้านสายเจริญ จากทางด้านบ้านกันจานมุ่งหน้าไปทางบ้านสายเจริญ โดยที่รถคันดังกล่าวไม่มีโคมไฟท้ายและจำเลยไม่ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย อันเป็นการขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ขกร 454 บุรีรัมย์ ตามหลังรถจำเลยมองไม่เห็นรถจำเลยและขับเฉี่ยวชนรถจำเลยที่บริเวณบ้านกันจาน หมู่ที่ 7 ตำบลกุดเสลา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสเลือดออกในสมอง เนื้อสมองช้ำบวมกลายเป็นคนพิการทุพพลภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายคือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงิน 80,000 บาท ค่าที่โจทก์ต้องเสียความสามารถประกอบการงานในอนาคตเป็นเงิน 100,000 บาท และค่าที่โจทก์ต้องพิการทุพพลภาพ เสื่อมสุขภาพอนามัยและทนทุกขเวทนาเป็นเงิน 120,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของโจทก์ฝ่ายเดียว นายทองรัตน์ เลขสันต์ ไม่มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์เพราะขณะเกิดเหตุโจทก์บรรลุนิติภาวะแล้วและไม่ได้มอบอำนาจให้นายทองรัตน์ฟ้องคดีนี้แทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 6 กันยายน 2549) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า นายทองรัตน์ เลขสันต์ มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องของโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีนายทองรัตน์บิดาโจทก์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ในขณะฟ้องโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เยาว์ที่ต้องอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมสามารถทำการใด ๆ ได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 แต่ขณะฟ้องโจทก์เป็นคนพิการทุพพลภาพ พูดและเดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เลย นายทองรัตน์บิดาโจทก์ชอบที่จะไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีก่อน ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความสามารถทำการใด ๆ ได้ด้วยตนเองตามกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งการฟ้องและดำเนินคดีต่อศาล การที่นายทองรัตน์บิดาโจทก์ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ โดยยังไม่มีคำสั่งศาลให้นายทองรัตน์เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของโจทก์ จึงเป็นความบกพร่องในเรื่องความสามารถตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 กรณีจึงต้องทำการแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนแต่ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติกลับพิจารณาคดีต่อไปจนเสร็จ จึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถให้บริบูรณ์เสียก่อน แล้วดำเนินการต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นจัดการในเรื่องความสามารถในการฟ้องคดีของโจทก์ตามที่กล่าวมา แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่