คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป. กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลย จำเลยไม่มีเงินชำระค่าที่ดินในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงรับโอนกรรมสิทธิ์โดยลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย
หนี้เดิมเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกิน จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกิน ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องจำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 140,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือนเดือนละ 6,000 บาท จนกว่าจะครบ หลังทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 201,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 140,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ เมื่อปี 2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายประดิษฐ์ ยั่งยืน ในโครงการเพชรงามแพรกษา เนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา ในราคา 416,000 บาท เมื่อรวมกับค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาทเศษ ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ นายประดิษฐ์แจ้งว่าที่ดินมีเนื้อที่เพิ่มอีกประมาณ 10 ตารางวา จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มอีกตารางวาละ 26,000 บาท นายประดิษฐ์ได้ให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้โดยมิได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางไม่สามารถบังคับได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 140,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2539 จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในโครงการจัดสรรหมู่บ้านเพชรงามแพรกษา เนื้อที่ประมาณ 26 ตารางวา ราคา 416,000 บาท เมื่อรวมค่าก่อสร้างเป็นเงิน 700,000 บาทเศษ โดยมีนายประดิษฐ์ ยั่งยืน ลงลายมือชื่อเป็นผู้จะขาย จำเลยและนางสาวศรีสุดา สูขศรี ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.2 แต่เนื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินประมาณ 36 ตารางวา เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 จำเลยไม่มีเงินชำระในส่วนของที่ดินที่เพิ่มขึ้น แต่จำเลยตกลงจะรับโอนกรรมสิทธิ์ โดยได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินให้ผู้จะขายไว้ โดยระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 140,000 บาท กำหนดชำระงวดแรก 20,000 บาท ในวันที่ 3 ธันวาคม 2541 งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 21 งวดละ 6,000 บาท ทุกวันที่ 3 ของเดือน ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.3 เมื่อได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้แล้ว ผู้จะขายจึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลย ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 จำเลยไม่ได้ชำระเงินกู้ตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงิน เอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ เพียงใด จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย เพราะมิใช่เป็นผู้จะขายที่ดิน ไม่มีสิทธิลงชื่อเป็นผู้ให้กู้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การและเบิกความว่า นายประดิษฐ์เป็นคนบอกให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามโดยที่ไม่ได้โต้แย้งใด ๆ และยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่จะซื้อจากผู้ขายหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้ว ประกอบกับนางสุกัญญา วิเศษปั้น พยานโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่านายประดิษฐ์กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการประกอบกิจการค้าขายบ้านด้วยกัน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยเองก็ทราบว่านายประดิษฐ์กับโจทก์เป็นหุ้นส่วนในการขายที่ดินให้แก่จำเลยร่วมกัน การลงชื่อกู้เงินจากโจทก์จึงเท่ากับเป็นการกู้เงินจากผู้จะขายมาชำระราคาที่ดินในส่วนเนื้อที่ที่เกินไปจากสัญญาจะซื้อจะขายนั่นเอง โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิลงลายมือชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้ให้กู้ได้และผูกพันจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าการทำสัญญากู้ยืมเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคสาม นั้น เห็นว่า หนี้เดิมนั้นเป็นการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ฝ่ายจำเลยไม่มีเงินพอจะจ่ายในส่วนของเนื้อที่ดินที่เกินจำนวนประมาณ 10 ตารางวา จึงตกลงทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินส่วนที่เกินมาดังกล่าว ถือว่าเป็นการแปลงสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมาเป็นสัญญากู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้อยู่ในฐานะผู้จะขายเช่นกัน และจำเลยก็ทราบดีอยู่แล้วขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน การแปลงหนี้ใหม่ในครั้งนี้จึงมิได้เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้แต่อย่างใด แม้ตัวโจทก์และนายประดิษฐ์ ยั่งยืน จะมิได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ก็ตาม ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินตามเอกสารหมาย จ.3 จริง และยังมิได้ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share