แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง แม้โจทก์คัดค้านก็ไม่ถือว่าผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งแปดร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 59,879,666.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งแปดไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 1945 ตำบลคลองใหม่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องรับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองไว้เป็นประกันหนี้ต่อผู้ร้องในวงเงินจำนองทั้งสิ้น 123,000,000 บาท โดยผู้ร้องได้ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่ผู้ร้องและศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ยังคงไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 130,816,866 บาท ต่อมาโจทก์ได้นำยึดที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและมีสิทธิที่จะบังคับคดีกับทรัพย์จำนองดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยถึงวันขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีบุริมสิทธิในฐานะผู้รับจำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น หากโจทก์ถอนการยึดทรัพย์หรือถอนการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีต่อไปผู้ร้องขอสวมสิทธิเพื่อดำเนินการบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนโจทก์เนื่องจากผู้ร้องเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับโจทก์เพราะผู้ร้องมิได้ฟ้องบังคับจำนอง แต่ได้ฟ้องคดีเดิมแบบหนี้สามัญโดยสละบุริมสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือทรัพย์จำนอง จึงขอรับชำระหนี้ก่อนไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่น กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาในชั้นนี้มีว่า โจทก์จะต้องใช้ค่าขึ้นศาลจำนวน 100,000 บาท แทนผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอเข้ามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ถือเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องได้ฟ้องบังคับจำนองจำเลยนั่นเอง แม้โจทก์คัดค้านก็ไม่ถือว่าผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อโจทก์ การที่จำเลยถูกผู้ร้องร้องขอให้เอาเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้มาชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นเสมือนหนึ่งผู้ร้องฟ้องบังคับจำนองต่อจำเลยแล้ว จำเลยก็มีหน้าที่จะต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้แทนผู้ร้อง หรือนัยหนึ่งให้ไปเรียกเอาจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ถูกขายทอดตลาดได้ ไม่ใช่โจทก์ต้องรับผิดเพราะโจทก์เป็นฝ่ายคัดค้านเสมอไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ใช้ค่าขึ้นศาลจำนวน 100,000 บาท แทนผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องใช้ค่าขึ้นศาลจำนวน 100,000 บาท แทนผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ