คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2916/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยฎีกาโดยยกข้ออ้างเป็นเรื่องที่ว่าการขายทอดตลาดอาคารพาณิชย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับคดี มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หลอกลวงให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำให้เห็นว่าสัญญาประนีประยอมความนั้นเกิดโดยการฉ้อฉลของโจทก์ และข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นก็มิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์สามชั้นครึ่งเลขที่ 233/3 ซึ่งซื้อมาจากการขายทอดตลาดโดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครราชสีมา จำเลยและบริวารอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ดังกล่าวโดยละเมิด โจทก์แจ้งให้จำเลยและบริวารออกจากอาคารพาณิชย์ ดังกล่าว แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายขาดประโยชน์จากการนำอาคารพาณิชย์ออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 7,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นค่าเสียหาย 21,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ถนนพิบูลละเอียด ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ให้จำเลยส่งมอบอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อยห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 21,000 บาท และค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 7,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารพาณิชย์ของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยให้ผู้อื่นเช่าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท ค่าเสียหายตามฟ้องจึงสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ลดค่าเสียหายลงเป็นเดือนละ 3,000 บาท
ก่อนสืบพยาน โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลว่า ข้อ 1. จำเลยยินยอมขนย้ายบริวารและทรัพย์สินออกจากอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน (ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2546) ทั้งนี้จำเลยและบริวารจะส่งมอบอาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและไม่เข้าเกี่ยวข้องหรือรบกวนสิทธิในอาคารดังกล่าวของโจทก์อีกต่อไป ข้อ 2. หากครบกำหนดตามข้อ 1. จำเลยและบริวารเพิกเฉยจำเลยยอมชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องและค่าเสียหายเดือนละ 7,000 บาท นับแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปเสร็จสิ้น กับให้โจทก์บังคับคดีกับจำเลยและบริวารได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
จำเลยอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลย คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลย ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ให้ยกอุทธรณ์จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้ เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน” จำเลยฎีกาว่า นางดาหวัน คุณอมรเลิศ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 771/2545 ของศาลชั้นต้นและโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำยึดอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ร่วมกันแจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11593 เลขที่ดิน 9 ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา มีนางลาวัลน์ ประจันตะเศษ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ความจริงอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ตั้งอยู่บนที่ดินเลขที่ 9 (ปัจจุบันเลขที่ดิน 748) ตำบลโพธิ์กลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นกรรมสิทธิ์ของนางเพลิน ไชยะเดชะ ทำให้การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์เป็นผู้ซื้ออาคารพาณิชย์ดังกล่าวได้นั้นมีลักษณะเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และพฤติการณ์ของโจทก์กับนางดาหวันเป็นการฉ้อฉลจำเลยด้วยนั้น เห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าการขายทอดตลาดอาคารพาณิชย์เลขที่ 233/3 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในการบังคับคดี หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หลอกลวงให้จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่จะทำให้เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเกิดโดยการฉ้อฉลของโจทก์แต่อย่างใดไม่ และข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นก็มิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ข้ออ้างของจำเลยจึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่จำเลยจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยมานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share