แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 วันที่ 7 สิงหาคม 2540 วันที่ 10 กันยายน 2540 วันที่ 26 ธันวาคม 2540 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 วันที่ 15 มิถุนายน 2541 และวันที่ 9 กันยายน 2541 ครั้งละ 6,000 บาท ออกจากยอดเงินที่ต้องชำระ โดยหักใช้เป็นค่าดอกเบี้ยก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงเท่ากับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยหักด้วยเงินที่จำเลยชำระแล้วตามวิธีคำนวณที่กำหนดในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคำนวณต้นเงินรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงิน 194,052.11 บาท คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างถึงความไม่สุจริตของโจทก์ในการดำเนินคดีและว่าจำเลยไม่ควรต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่โต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 150,000 บาท แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยให้การ ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องชี้ขาดตัดสินให้จำเลยรับผิดในจำนวนหนี้เท่าที่มีอยู่จริง และสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมมีอยู่เพียงเท่าที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงิน สัญญาจำนองไม่ตกเป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2540 จำเลยกู้เงินโจทก์ 186,000 บาท ยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กำหนดชำระเงินคืนภายใน 6 เดือน โดยจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1936 พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้เป็นประกันและให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้เงิน จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินคืน และค้างชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 116,250 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามพร้อมบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 302,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 186,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 150,000 บาท และมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1936 พร้อมเอกสารที่จำเลยลงชื่อเป็นผู้จำนองให้โจทก์ไปจดทะเบียนจำนองเอง จำเลยมาทราบภายหลังว่าจำนวนเงินตามสัญญาจำนองไม่ถูกต้อง โจทก์รับว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องแล้วไม่แก้ไข จำเลยจึงขอปฏิเสธว่าสัญญาจำนองตามฟ้องไม่ใช่ฉบับที่จำเลยลงชื่อ จำเลยชำระเงินหลายเงินครั้งโดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์และชำระด้วยเงินสดรวม 72,000 บาท ถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระต้นเงินเพียง 78,000 บาท การจดทะเบียนจำนองภริยาจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมทั้งไม่มีลายมือชื่อของจำเลยเป็นผู้จำนอง สัญญาจำนองตามฟ้องจึงเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ การคิดคำนวณให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 วันที่ 7 สิงหาคม 2540 วันที่ 10 กันยายน 2540 วันที่ 26 ธันวาคม 2540 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 วันที่ 15 มิถุนายน 2541 และวันที่ 9 กันยายน 2541 ครั้งละ 6,000 บาท ออกจากยอดเงินที่จำเลยต้องชำระ โดยหักใช้เป็นค่าดอกเบี้ยก่อนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่ชำระหากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1936 ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด นำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแต่ให้หักเงินที่จำเลยนำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 วันที่ 7 สิงหาคม 2540 วันที่ 10 กันยายน 2540 วันที่ 26 ธันวาคม 2540 วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 วันที่ 15 มิถุนายน 2541 และวันที่ 9 กันยายน 2541 ครั้งละ 6,000 บาท ออกจากยอดเงินที่ต้องชำระ โดยแต่ละครั้งให้หักใช้เป็นค่าดอกเบี้ยก่อนที่เหลือให้หักชำระต้นเงิน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงเท่ากับจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยหักด้วยเงินที่จำเลยชำระแล้วตามวิธีคำนวณที่กำหนดในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งคำนวณต้นเงินรวมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแล้วเป็นเงิน 194,052.11 บาท คดีจึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างถึงความไม่สุจริตของโจทก์ในการดำเนินคดีและว่าจำเลยไม่ควรต้องรับผิดต่อโจทก์ในค่าฤชาธรรมเนียมตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่โต้แย้งการใช้ดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสของจำเลยกับภริยา การจำนองไม่ได้รับความยินยอมจากภริยาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรวม ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนสัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยปัญหาข้อนี้จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนว่าภริยาจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินจำนองหรือไม่ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ทั้งจำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าที่ดินที่จำนองเป็นสินสมรสหรือภริยาจำเลยมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ คงให้การลอย ๆ ว่าภริยาจำเลยมิได้รู้เห็นยินยอมในการจำนองที่ดิน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1361 หรือไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้นอกจากเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อีกด้วย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการเดียวว่า สัญญาจำนองระบุจำนวนเงิน 186,000 บาท แต่จำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 150,000 บาท มีผลทำให้สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงว่าสัญญาจำนองจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มิได้ฟังว่าเป็นสัญญาปลอม เห็นว่า การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์เพียง 150,000 บาท แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยให้การต่อสู้ ก็เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องชี้ขาดตัดสินให้จำเลยรับผิดในจำนวนหนี้เท่าที่มีอยู่จริง และสิทธิของโจทก์ที่จะบังคับตามสัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ก็ย่อมมีอยู่เพียงเท่าที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินสัญญาจำนองหาได้ตกเป็นโมฆะเพราะเหตุดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเกินมาชั้นละ 2,705 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้สั่งให้คืนค่าขึ้นศาลที่จำเลยเสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนค่าขึ้นศาล ส่วนที่เสียเกินมาทั้งหมดแก่จำเลย”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาชั้นละ 2,705 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ