แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยโดยออกใบสั่งจ่ายสินค้าแก่ลูกค้าเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการมารับปุ๋ย ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในการค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่า ผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดงในการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ต้องสลักหลังและลงลายมือชื่อในใบสั่งจ่ายสินค้าเพียงแต่ส่งมอบให้เท่านั้น แสดงว่าผู้ซื้อที่ได้รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 สามารถโอนใบสั่งจ่ายสินค้านั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และผู้โอนไม่จำต้องสลักหลังการโอนใบสั่งจ่ายสินค้า การโอนสิทธิในการรับปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนหนี้อันพึงจะต้องชำระแก่ผู้ถือตาม ป.พ.พ. มาตรา 312 ประกอบมาตรา 313 โจทก์ผู้ครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว สามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างลูกค้าที่รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรประเภทปุ๋ยระหว่างเดือนมกราคม 2536 ถึงเดือนพฤษภาคม 2536 โจทก์ซื้อหรือรับโอนสิทธิการซื้อสินค้าประเภทปุ๋ยจากจำเลยที่ 2 น้ำหนัก 245 ตัน คิดราคาขณะฟ้องเป็นเงิน 1,333,400 บาท ปุ๋ยดังกล่าว จำเลยที่ 2 ซื้อจากลูกค้าของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกใบสั่งจ่ายสินค้าแก่ลูกค้าของตนรวม 73 ฉบับ และลูกค้านั้นได้มอบใบสั่งจ่ายสินค้าแก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้มอบใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ เพื่อนำไปรับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 หรือนำไปจำหน่ายแก่บุคคลภายนอกต่อไปตามประเพณีทางการค้าหรือตามพิธีการซื้อขายปุ๋ยทั่วไป ต่อมาโจทก์นำใบสั่งจ่ายสินค้าไปขอรับปุ๋ยเองและได้จำหน่ายสินค้าตามใบสั่งจ่ายปุ๋ยดังกล่าวออกไปบางส่วนแก่ลูกค้ารายย่อยเพื่อให้ไปรับปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมจ่ายปุ๋ยให้โจทก์หรือผู้ซื้อรายอื่น ๆ อ้างว่า จำเลยที่ 2 ไม่ชำระราคา ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุที่จะอ้างเช่นนั้น ทั้งอยู่นอกเหนือที่โจทก์และบุคคลภายนอกผู้ซื้อสินค้าโดยสุจริตจะพึงรู้ได้ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองส่งมอบปุ๋ยหรือชำระราคาปุ๋ยแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบปุ๋ยสูตร 21 – 0 – 0 น้ำหนัก 26 ตัน ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 น้ำหนัก 22 ตัน และปุ๋ยสูตร 16 – 20 – โอเค น้ำหนัก 245 ตัน ให้แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้หรือไม่ส่งมอบให้ชำระราคาแทนเป็นเงิน 1,333,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะส่งมอบหรือชำระราคาแทนเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์หรือติดต่อค้าขายกับโจทก์ การซื้อขายปุ๋ยพิพาทเป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคากว่าห้าร้อยบาท โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 มาแสดง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยให้แก่นางยุพา เอกอำนวย เจ้าของร้านอำนวยการเกษตร ต่อมานางยุพามีคำสั่งให้ระงับการจ่ายปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้า จำเลยที่ 1 จึงไม่จ่ายปุ๋ยให้แก่โจทก์ประเพณีหรือวิธีการซื้อขายปุ๋ยเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นหลังจากจำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยให้ร้านอำนวยการเกษตรแล้ว จำเลยที่ 1 มิได้ยอมรับวิธีการดังกล่าว โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องการซื้อปุ๋ย โดยไม่มีการทำเป็นหนังสือหรือแจ้งการโอนให้จำเลยที่ 1 ทราบการโอนสิทธิเรียกร้องจึงไม่สมบูรณ์ และไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันซื้อสินค้า ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความ เนื่องจากศาลจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบปุ๋ยสูตร 21 – 0 – 0 น้ำหนัก 26 ตัน ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 น้ำหนัก 22 ตัน และปุ๋ยสูตร 16 – 20 – โอเค น้ำหนัก 245 ตัน แก่โจทก์ หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,333,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กรกฎาคม 2538) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยสูตร 21 – 0 – 0 น้ำหนัก 26 ตัน ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 น้ำหนัก 22 ตัน และปุ๋ยสูตร 16 – 20 – โอเค น้ำหนัก 245 ตัน แก่ร้านเสรีการเกษตรและร้านเอกอำนวยยศและออกใบสั่งจ่ายสินค้าระบุชื่อผู้รับสินค้าว่าเสรีการเกษตร จำนวน 6 ฉบับ และเอกอำนวยยศ จำนวน 67 ฉบับ ตามใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.6 เพื่อนำไปขอรับปุ๋ยภายหลัง หลังจากนั้นร้านเสรีการเกษตรและร้านเอกอำนวยยศได้นำใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 อีกต่อหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากร้านเสรีการเกษตรและร้านเอกอำนวยยศให้ระงับการจ่ายปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวอ้างว่าถูกจำเลยที่ 2 ฉ้อโกง เมื่อโจทก์นำใบสั่งจ่ายสินค้าไปขอรับปุ๋ยจำเลยที่ 1 จึงไม่จ่ายให้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาเกินกว่าห้าร้อยบาท แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการซื้อขายและที่อ้างว่าโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ก็นำสืบเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อ ทั้งการซื้อขายปุ๋ยของโจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า การติดต่อซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิใช่ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบปุ๋ยให้แก่โจทก์ แต่ให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำไปรับปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 ในภายหลัง หรือนำสิทธิที่จะได้รับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไปจำหน่ายอีกต่อหนึ่งโดยจำเลยที่ 1 ก็นำสืบเจือสมในข้อนี้ว่า ปุ๋ยยังเป็นของจำเลยที่ 1 ลูกค้าเพียงมีสิทธิมาขอรับปุ๋ยตามใบสั่งจ่ายสินค้าเท่านั้น จึงเป็นการซื้อขายสิทธิในการรับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการซื้อขายปุ๋ยดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ก็เบิกความยืนยันว่าได้ชำระราคาให้จำเลยที่ 2 แล้ว ตามเช็คเอกสารหมาย ป.จ.4 โดยมีนางอัจฉรา ปิยะกุลเกียรติ สมุห์บัญชีธนาคารตามเช็คเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เช็คของโจทก์ทุกฉบับสามารถเรียกเก็บเงินได้ แม้โจทก์จะเบิกความว่าเป็นการชำระหนี้ค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงรวมกันโดยไม่ได้ระบุว่าชำระค่าปุ๋ยเท่าใด ค่ายาฆ่าแมลงเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงวันที่ออกเช็คแล้วปรากฏว่าอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์อ้างว่าได้ติดต่อซื้อขายปุ๋ยและรับโอนใบสั่งจ่ายสินค้ามาจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบโต้แย้งหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ไม่สุจริตเพราะโจทก์น่าจะซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 โดยตรงซึ่งได้ราคาถูกกว่านั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า แม้โจทก์จะซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยตรงราคาก็จะใกล้เคียงกับที่ซื้อจากจำเลยที่ 2 โจทก์เลือกซื้อจากจำเลยที่ 2 เพราะสะดวกกว่าและราคาใกล้เคียงกัน จึงมิใช่ข้อที่แสดงว่าโจทก์ไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า นางยุพา เอกอำนวย และ นายปิติ เสรีเจริญกิจ ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้จำหน่ายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ยกเลิกการซื้อขายสินค้าและยกเลิกใบสั่งจ่ายสินค้ากับจำเลยที่ 1 แล้ว มีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ซื้อและโจทก์ผู้รับโอนไม่มีสิทธิในใบสั่งจ่ายสินค้า โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า การซื้อขายหรือการโอนสิทธิในการรับปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นการโอนหนี้อันพึงชำระแก่ผู้ถือหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ขายปุ๋ยโดยออกใบสั่งจ่ายสินค้าแก่ลูกค้าเพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้าในการมารับปุ๋ย มิได้มีวัตถุประสงค์ให้ลูกค้านำใบสั่งจ่ายสินค้าไปหากำไรขายต่อให้บุคคลอื่น การที่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 นำสินค้าหรือใบสั่งจ่ายสินค้าไปขายต่อให้บุคคลอื่นได้กำไรมา จำเลยที่ 1 ก็มิได้มีส่วนได้เสียไปด้วย โดยจำเลยที่ 1 ถือว่าผู้มารับเป็นเพียงตัวแทนของลูกค้า ประเพณีการโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้กำหนดและไม่ได้รู้เห็นด้วย เห็นว่า ได้ความจากพยานจำเลยที่ 1 ที่นำสืบรับว่า เมื่อมีผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.6 ของจำเลยที่ 1 มาขอรับปุ๋ย ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะส่งมอบปุ๋ยให้ จำเลยที่ 1 ได้ตรวจสอบใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลักสำคัญว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ถูกต้องหรือไม่ และไม่ได้ถูกอายัดแสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ตรวจสอบไปถึงรายละเอียดว่าผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขอรับปุ๋ยเป็นใคร มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 อย่างไรหรือไม่ ใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในการค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ทั้งด้านหลังของใบสั่งจ่ายสินค้ามีข้อความระบุคำเตือนข้อ 4 ว่า “เพื่อป้องกันการปลอมแปลงใบสั่งจ่ายสินค้านี้ ควรรับโอนจากผู้ที่เชื่อถือได้หรือผู้ที่เคยค้าประจำเท่านั้น และต้องให้ผู้โอนลงลายมือชื่อรับรองพร้อมประทับตรา (ถ้ามี)” แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่า ผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดง จึงได้มีคำเตือนผู้รับโอนให้ระมัดระวังในเรื่องใบสั่งจ่ายสินค้าปลอมเท่านั้น และได้ความจากนายสุธี ชัยสกุลสุรินทร์ พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาชีพขายปุ๋ยและรับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 ไปขายต่อว่า ในการส่งมอบใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าไม่ต้องสลักหลังและลงลายมือชื่อในใบสั่งจ่ายสินค้าเพียงแต่ส่งมอบให้เท่านั้น แสดงว่าผู้ซื้อที่ได้รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 สามารถโอนใบสั่งจ่ายสินค้านั้นให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และผู้โอนไม่จำต้องสลักหลังการโอนใบสั่งจ่ายสินค้าตามคำเตือนที่ระบุไว้ด้านหลังใบสั่งจ่ายสินค้าแต่อย่างใด การโอนสิทธิในการรับปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการโอนหนี้อันพึงจะต้องชำระแก่ผู้ถือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 312 ประกอบมาตรา 313 โจทก์ผู้ครอบครองใบสั่งจ่ายสินค้าดังกล่าว สามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างลูกค้าที่รับใบสั่งจ่ายสินค้าจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์