แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ปรากฏข้อความที่กล่าวถึงการที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในข้อ 3 ว่า “ด้วยผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวในข้อ 2 ทำให้โจทก์และบุตรอีก 3 คน ต้องได้รับความเสียหายและขาดผู้อุปการะ…” โดยคำฟ้องของโจทก์ข้ออื่นตลอดจนเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้ตาย ในฐานะใด อันมีผลทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ในฐานะส่วนตัวหรือฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการบรรยายฟ้องโดยไม่แจ้งชัดว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพ และโจทก์อาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับเรื่องการต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เข้าใจและไม่สามารถต่อสู้คดีปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ได้ตามสมควร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้จะได้ความในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจทราบฐานะของโจทก์ว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นนายจ้างผู้มีอำนาจบังคับบัญชา จำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวการผู้มีอำนาจสั่งการ วาน ใช้ หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในกิจการของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 เวลาประมาณ 6 ถึง 7 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า หมายเลขทะเบียน สกลนคร ฌ – 5003 ออกจากโรงงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความเร็วสูงประมาณ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยประมาทชนนายวีระ เฮงษฎีกุล ซึ่งกำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่ข้างทาง เป็นเหตุให้นายวีระได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในวันต่อมา การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว ทำให้โจทก์และบุตรอีก 3 คน ต้องได้รับความเสียหายและขาดผู้อุปการะโจทก์ขอเรียกร้องค่าปลงศพนายวีระกับค่าใช้จ่ายอื่นตามฐานานุรูป 100,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์ต้องเลี้ยงดูบุตร 3 คน จนกว่าจะบรรลุนิติภาวะปีละ 1,020,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 10,120,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 84,000 บาท โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โจทก์เพิ่งทราบในวันที่ 13 กันยายน 2540 ว่าจำเลยที่ 1 คือผู้ขับรถจักรยานยนต์ชนนายวีระขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในโรงงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,204,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความสัมพันธ์กันอย่างไร กระทำการในทางการที่จ้างอย่างไร จำเลยที่ 2 ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้ปรากฏว่าโจทก์มีความเกี่ยวข้องกับผู้ตายอย่างไร อาศัยสิทธิตามกฎหมายใดฟ้องคดีนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยที่ 1 ทำคำให้การแก้คดี โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาทำนองว่าคำฟ้องของโจทก์มีการบรรยายสภาพแห่งข้อหาโดยชัดเจน และมีการบรรยายข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาโดยละเอียดครบถ้วนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง พอที่จะให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าใจคำฟ้องได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำให้การแก้คดีว่า โจทก์มิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์ ทั้งได้ความจากคำเบิกความของพยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ฝ่ายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบถึงฐานะของโจทก์ว่าเป็นภริยาของผู้ตายอยู่แล้ว พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์คงปรากฏข้อความที่กล่าวถึงการที่จำเลยทั้งสามโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ในข้อ 3 ว่า “ด้วยผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวในข้อ 2 ทำให้โจทก์และบุตรอีก 3 คน ต้องได้รับความเสียหายและขาดผู้อุปการะ….” โดยคำฟ้องของโจทก์ข้ออื่นตลอดจนเอกสารท้ายฟ้องทุกฉบับไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าโจทก์และบุตรทั้งสามของโจทก์เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับนายวีระ เฮงษฎีกุล ผู้ตาย ในฐานะใด อันมีผลทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดคดีนี้ ในฐานะส่วนตัวหรือฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรทั้งสามได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น โดยไม่แจ้งชัดว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องโดยอาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่าปลงศพ และโจทก์อาศัยสิทธิใดในการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับเรื่องการต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เข้าใจและไม่สามารถต่อสู้คดีปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ได้ตามสมควรคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง เป็นฟ้องเคลือบคลุม แม้จะได้ความในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจทราบฐานะของโจทก์ว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวีระ ผู้ตายมาก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีดังที่โจทก์อ้างในฎีกาก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำฟ้องของโจทก์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรกกลับเป็นคำฟ้องขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ