คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับสัมปทานกับรัฐโดยตรงหรือมีอำนาจใด ๆ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หรือได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลางให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าได้กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก
โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ แม้การที่จำเลยนำรถยนต์ที่สี่ล้อเล็กออกแล่นรับผู้โดยสารทับเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจะเป็นการกระทำละเมิดก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพอย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีอำนาจในการจัดรถโดยสารรับจ้างให้บริการขนส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งฝั่งพระนครและธนบุรีรวมตลอดถึงจังหวัดใกล้เคียงตามที่กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้กำหนดขึ้น นอกจากนี้ยังมีอำนาจอนุญาตให้เอกชนนำรถเข้าร่วมบริการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางต่าง ๆ ดังกล่าวด้วย โจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางราษฎร์บูรณะ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยการนำรถยนต์สี่ล้อเล็ก ยอมให้ หรือยุยงส่งเสริมให้สมาชิกของจำเลยทั้งสองนำรถยนต์สี่ล้อเล็กที่มีตราสัญลักษณ์ของจำเลยทั้งสองติดข้างรถออกแล่นรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่โจทก์มีสิทธิให้บริการรับส่งผู้โดยสารตามสัญญาที่ทำไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพโดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองมิให้นำรถที่มีตราสัญลักษณ์ของจำเลยทั้งสองออกแล่นรับส่งผู้โดยสารทับเส้นทางที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือใช้ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นกระทำในลักษณะเช่นนั้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของสัมปทานเส้นทางเดินรถสายราษฎร์บูรณะ – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่เส้นทางดังกล่าวองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งจากทางราชการ โจทก์เป็นเพียงผู้นำรถโดยสารเข้าร่วมบริการเดินรถรับส่งผู้โดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นผู้กำหนดเส้นทางและมีสิทธิให้เจ้าของรถร่วมบริการเดินรถในเส้นทางใด รวมทั้งเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินรถได้ด้วย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวภายในเขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า โจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการขนส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับสัมปทานกับรัฐโดยตรงหรือมีอำนาจใด ๆ ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก หรือได้รับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลาง ให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์อ้างว่าได้กระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ตามสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้จากการเดินรถนั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นการละเมิดและถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอื่นจะต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ และจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง แต่โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ย่อมเป็นผู้มีสิทธิอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาร่วมเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทด้วย และเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้ล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าว แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นละเมิดก็ละเมิดต่อสิทธิขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพอย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share