แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ในการบังคับจำนองหากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีปัญหาข้อใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้
จำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ เพื่อประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย สอดคล้องกับสัญญาจำนองที่ดินข้อ 1 ซึ่งมีข้อความระบุว่า คู่สัญญาให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสัญญาจำนองที่ดินเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอย่างหนี้สามัญ การทำข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 อันเป็นการตกลงกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 733 บัญญัติไว้ เพื่อให้มีผลบังคับกันว่าจำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันกู้ยืมเงินจากโจทก์ 350,000 บาท มีกำหนด 1 ปี ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง พร้อมกับมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยอมให้โจทก์บังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 404,833.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การว่า เดิมจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากนายธนะ ธนะกิจธรรม น้องโจทก์ 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมานายธนะให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ฉบับใหม่ตามฟ้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับแรก แต่โจทก์ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับเงินจำนวน 350,000 บาท สัญญากู้ตามฟ้องจึงไม่สมบูรณ์ และไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง สำหรับหนี้เงินกู้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับนายธนะนั้นจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้นายธนะครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ทั้งไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เข้าตกลงทำสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองที่ดิน โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 มกราคม 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 27 มกราคม 2546) ต้องไม่เป็น 54,833.33 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้จนครบถ้วน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ในการบังคับจำนองหากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีปัญหาข้อใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาด้วย ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เท่านั้น ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2545 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ 350,000 บาท มีกำหนด 1 ปี ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกเดือนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 เลขที่ดิน 579 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 3 จึงทำสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่โจทก์ ตามสัญญาจำนองที่ดินและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.3 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 ที่ตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอชำระหนี้ เงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใด จำเลยที่ 3 ยอมรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฎีกาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาโดยคำแก้ฎีกาของโจทก์ไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าจำเลยที่ 3 มอบให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14171 เลขที่ดิน 579 ตำบลโพสะ (บางแก้ว) อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ไว้แก่โจทก์ ในวงเงิน 350,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เพื่อประกันหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 นอกจากจะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 จำนองที่ดินเป็นประกันแล้ว ยังมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย สอดคล้องกับสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 1 ซึ่งมีข้อความระบุชัดแจ้งว่า คู่สัญญาให้ถือสัญญาจำนองเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กู้ยืมเงินโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.3 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมที่สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยที่ 3 ให้ชำระหนี้ได้สิ้นเชิงอย่างหนี้สามัญ การทำข้อตกลงตามสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 อันเป็นการตกลงกันเป็นพิเศษนอกเหนือจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 บัญญัติไว้ เพื่อให้มีผลบังคับกันว่าจำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิง จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน เพราะหากไม่มีสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง โจทก์ก็คงไม่ทำสัญญาจำนองกับจำเลยที่ 3 ดังนี้ สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5 จึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ