แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความตามหนังสือมอบอำนาจแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะทำสัญญาซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาทเสร็จเด็ดขาด เป็นเพียงให้ ส.ผู้รับมอบอำนาจเสนอขายในราคาที่จำเลยกำหนดเพราะมีเงื่อนไขในการโอนทั้งในหนังสือมอบอำนาจก็มีคำว่า “ผู้จะซื้อ” ประกอบข้อความไว้ด้วย นอกจากนี้ส.ก็ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตั้งตัวแทนไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จึงอยู่ในบังคับที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 798 วรรคสอง ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง และต้องถือว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้เป็นหลักฐานในการตั้งตัวแทนที่สมบูรณ์มีผลใช้บังคับตามกฏหมายได้ และตามหนังสือมอบอำนาจนี้ก็ระบุว่าจำเลยเป็นผู้มอบอำนาจให้ส.เป็นตัวแทนทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน มีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ แม้ ส.จะไม่ได้ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจไม่สมบูรณ์
ที่จำเลยฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจได้มีการปิดอากรแสตมป์ภายหลังโดยจำเลยไม่รู้เห็น จึงเป็นเอกสารปลอมนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นต่อสู้มาแต่แรกเป็นเรื่องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
เมื่อพิจารณาคำพยานโจทก์และจำเลยประกอบกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว ไม่ปรากฏความตอนใดในสัญญาเลยว่า จำเลยจะต้องไถ่ถอนจำนองก่อนจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ จึงตีความสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้ว่า จำเลยจะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ตามสภาพที่เป็นอยู่ในขณะทำสัญญา กล่าวคือ โอนโดยติดจำนองหรือให้โจทก์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง การที่โจทก์ไปรอรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจำเลยที่สำนักงานที่ดินในวันนัดและเตรียมราคาที่ดินมาชำระ แม้จำเลยจะไปตามนัดก็คงจะโอนกรรมสิทธิ์กันไม่ได้เพราะโจทก์จะขอปฎิบัติการชำระหนี้ก็ต่อเมื่อจำเลยไถ่ถอนจำนองแล้วโดยที่โจทก์ไม่มีเหตุจะอ้างได้ตามกฎหมาย จึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้