คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3075/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรของ ส. ผู้ให้กู้ เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของ ส. ย่อมตกอยู่แก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 โจทก์เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้โดยไม่จำต้องร้องขอจัดการทรัพย์มรดกก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยและขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้จำนวน 550,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากนางสถิตย์ มะลิทอง ไปเพียง 200,000 บาท แต่มีการกรอกข้อความว่ากู้ไป 400,000 บาท และจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วนนับถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2542 เป็นเงิน 192,000 บาท แต่นางสถิตย์ไม่นำไปหักลดยอดหนี้ให้และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากนางสถิตย์ถึงแก่ความตายไปก่อนโจทก์มาฟ้องคดีนี้ แต่ยังไม่มีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกและโจทก์นำคดีมาฟ้องโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาท
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งอนุญาตในคำร้องที่โจทก์ขออุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสองได้รับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนโดยไม่ปรากฏว่าการวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรของนางสถิตย์ มะลิทอง ผู้ให้กู้ เมื่อนางสถิตย์ถึงแก่ความตาย สิทธิ หน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของนางสถิตย์ ย่อมตกอยู่แก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรค 1 และมาตรา 1600 โจทก์เป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของนางสถิตย์ ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องร้องขอจัดการทรัพย์มรดกเสียก่อน ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อนางสถิตย์ถึงแก่ความตาย มรดกตกทอดแก่ทายาท กรณีจำต้องมีผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการรวบรวมและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสถิตย์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อปัญหาว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำต้องวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวและพิพากษาใหม่ตามรูปความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 240 (3) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษายกคำพิพากษาชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share