แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14,31 โดยในคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษในข้อหาทำไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11 ที่เป็นบทกฎหมายมาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดมาด้วย ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ได้ขอให้ลงโทษในข้อหาทำไม้หาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำไม้ โดยตัด ฟัน เลื่อย ไม้กระท้อน ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ออกจากต้น แล้วทอนเป็นท่อน รวม 3 ท่อน ปริมาตร 2.22 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสะดวกต่อการชักลากออกจากป่าและสะดวกต่อการกระทำการแปรรูปไม้ต่อไป แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเลื่อยไม้กระท้อนดังกล่าวออกเป็นแผ่นรวม 150 แผ่น ปริมาตร 0.75 ลูกบาศก์เมตร ภายในเขตป่าเขาพนมเบญจาซึ่งเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองกับพวกไม่ได้รับอนุญาตและมิได้สัมปทานหรือได้รับยกเว้นตามกฎหมายให้ทำไม้ดังกล่าวได้ หลังจากที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้ดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไม้กระท้อนซึ่งยังมิได้แปรรูป 2 ท่อน ปริมาตร 1.47 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย และจำเลยทั้งสองกับพวกพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม้ดังกล่าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้ดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไม้กระท้อนแปรรูปดังกล่าว 150 แผ่น ปริมาตร 0.75 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ทั้งนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งเครื่องเลื่อยโซ่ยี่ห้อสติล 3 เครื่อง ราคา 10,000 บาท ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดและผลิตในประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นของต้องห้าม ต้องจำกัด และมีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร อันเป็นการฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะต้องเสียภาษีอากรขาเข้า โดยจำเลยทั้งสองกับพวกรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำและพาหนีศุลกากรขาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามข้อจำกัดที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น จำนวน3,910 บาท ซึ่งรวมราคาของและค่าอากรขาเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงินจำนวน 13,910 บาทอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4,5, 6, 47, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบของกลาง จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย และสั่งให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5(2), 7, 8 เรียงกระทงลงโทษ ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นบทหนัก ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท ฐานมีไม้ซึ่งยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี และปรับ 8,000 บาท ฐานร่วมกันซื้อหรือรับไว้ซึ่งเครื่องเลื่อยยนต์โซ่โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากรลงโทษปรับคนละ 55,640 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี และปรับ 55,640 บาท จำเลยที่ 2จำคุก 3 ปี และปรับ 79,640 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 27,820 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 39,820 บาท จำเลยที่ 1 เคยถูกศาลลงโทษในข้อหาเกี่ยวกับความผิดการทำไม้และมีไม้ไว้ในครอบครองหลายครั้งแล้วไม่ควรรอการลงโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โดยให้จำเลยที่ 2 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง กับให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติด้วย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษให้จำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน และความผิดฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ปรับไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นการทำลายทรัพยากรป่าไม้อันมีค่ายิ่งของประเทศชาติ ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงต้นน้ำลำธารอันก่อให้เกิดภัยร้ายแรงหรืออุทกภัย ทั้งส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมโดยรวม อันเป็นผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างร้ายแรง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
อนึ่ง สำหรับความผิดในข้อหาฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ มาตรา 14, 31 โดยในคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 11 ที่เป็นบทกฎหมายมาตราซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นว่านั้นเป็นความผิดมาด้วย ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ได้ขอให้ลงโทษในข้อหาทำไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้หาได้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าในข้อหาฐานทำไม้ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ด้วยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ในข้อหาฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่งแต่เพียงบทกฎหมายเดียว ส่วนโทษที่จะลงแก่จำเลยทั้งสองให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3