แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสไว้ในหมวดเดียวกัน องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำก็เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันตรงผลแห่งการกระทำคือถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ก็เป็นความผิดตามมาตรา 297มีผลให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัสเพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 295 เป็นบทลงโทษมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 295ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสิทธิพร รชตเวศน์ ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยชกต่อย ถีบและใช้อาวุธตามฟ้องตีทำร้ายโจทก์ร่วม เหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันแต่การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมเท่านั้น พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295จำคุก 1 ปี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่าวันเกิดเหตุโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทะเลาะวิวาททำร้ายซึ่งกันและกันมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า บาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับเกิดจากการทำร้ายของจำเลยหรือไม่ เห็นว่าฝ่ายโจทก์มีโจทก์ร่วมกับนางสาวชฎาพร กันธิยะ เป็นประจักษ์พยาน โจทก์ร่วมกับนางสาวชฎาพรต่างเบิกความยืนยันว่า หลังจากถีบโจทก์ร่วมล้มลงไปแล้วจำเลยได้ใช้เก้าอี้เหล็กตามภาพถ่ายหมาย จ.4 จ.5 ตีโจทก์ร่วมอีกหลายที กับมีร้อยตำรวจโทพัฒน์พงษ์ ขำแก้ว พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.6 ว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับว่า ได้ใช้เก้าอี้เหล็กตีโจทก์ร่วม จำเลยมิได้นำสืบโต้เถียงเลยว่าชั้นสอบสวนจำเลยมิได้ให้การรับสารภาพ หรือว่าร้อยตำรวจโทพัฒน์พงษ์บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยไว้ไม่ถูกต้อง ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายตามที่ปรากฏในรายงานการตรวจชันสูตรของแพทย์ก็ไม่น่าจะเกิดจากการล้มลงไปโดยเก้าอี้หรือถูกเก้าอี้ที่จำเลยถืออยู่โดนโดยการลื่นล้มของจำเลยดังที่จำเลยต่อสู้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดชอบด้วยเหตุผลแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับเกิดจากการตีทำร้ายของจำเลยฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อกฎหมายต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เป็นการพิพากษานอกฟ้องและเกินกว่าที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสไว้ในหมวดเดียวกัน องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำก็เป็นอย่างเดียวกัน ต่างกันตรงผลแห่งการกระทำเท่านั้น คือถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายได้รับอันตรายสาหัส ก็เป็นความผิดตามมาตรา297 มีผลให้ผู้กระทำความผิดต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้นเมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมรับอันตรายสาหัส เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของโจทก์ร่วมเท่านั้น แม้โจทก์จะไม่ได้อ้างมาตรา 295 เป็นบทลงโทษมาด้วย ศาลก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้นเห็นว่ามูลเหตุแห่งคดีเกิดจากโจทก์ร่วมและจำเลยวิวาททำร้ายซึ่งกันและกัน ทั้งบาดแผลที่โจทก์ร่วมได้รับก็ไม่มาก พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงปรับ2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.