คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1216/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด ต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ซึ่งต้องดูว่าคำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหาแต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกัน โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในฐานผิดสัญญาข้อหาหนึ่ง และฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดอีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหา 2 ข้อหาและแยกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้ง 2 ข้อหา โจทก์ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อและติดตั้งลิฟต์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้ส่งมอบลิฟต์และติดตั้งลิฟต์ให้แก่โจทก์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้รับเงินจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในงานส่วนติดตั้งลิฟต์แล้วแต่ไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยว่าโจทก์ไม่จ่ายเงินค่าลิฟต์และค่าติดตั้งลิฟต์ให้จำเลยที่ 1 มหาวิทยาลัยได้เรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปไกล่เกลี่ยในที่สุดโจทก์ตกลงจ่ายค่าลิฟต์ให้จำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่จ่ายอีกการที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนโจทก์ต่อมหาวิทยาลัยเป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 จะกระทำได้โดยชอบหาเป็นการละเมิดโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อลิฟต์ และจ้างจำเลยที่ 1ติดตั้งที่อาคารโรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งโจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในราคาค่าลิฟต์ 13,614,500 บาทค่าติดตั้ง 1,685,500 บาท โจทก์ได้จ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 1,530,000 บาท ส่วนที่เหลือจ่ายเป็นงวดตามงานที่ทำแล้วเสร็จ ทั้งนี้จำเลยที่ 1 จะต้องติดตั้งลิฟต์ของงานส่วนที่ 1ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 22 กันยายน 2521 และให้แล้วเสร็จครบทุกเครื่องภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2524 หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ปรับเป็นรายวัน เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1ผิดนัดไม่อาจส่งมอบและติดตั้งลิฟต์ของงานส่วนที่ 1 ให้แล้วเสร็จเป็นเหตุให้โจทก์ ไม่อาจส่งมอบอาคารโรงพยาบาลส่วนที่ 1 ได้จำเลยทั้งสองต้องจ่ายค่าปรับเป็นรายวันให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองได้ร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ว่าโจทก์ไม่จ่ายเงินค่าลิฟต์และค่าติดตั้งให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชี้แจงและพยายามประนีประนอมกับจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองทำหนังสือขอยกเลิกเรื่องดอกเบี้ยที่จะคิดจากโจทก์กับขอความช่วยเหลือในการขอเบิกเงินงวดที่ 1 จากโจทก์ก่อน เมื่อจำเลยทั้งสองนำอุปกรณ์ลิฟต์ที่เหลือทั้งหมดส่งมอบแก่โจทก์และติดตั้งลิฟต์ของงานส่วนที่ 1เสร็จและทำงานได้ โจทก์จะจ่ายเงินงวดที่ 2 แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามโจทก์จึงไม่จ่ายเงินแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ได้หยุดงานและทิ้งงานทั้งหมด นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้สมคบกับบริษัทยิบอินซอย จำกัด และบุคคลผู้มีชื่อหน่วงเหนี่ยวการทำงานของโจทก์ให้ล่าช้าและกลั่นแกล้งโจทก์ให้หยุดงานก่อสร้างทั้งหมดและไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ เพื่อให้บริษัทยิบอินซอย จำกัดและจำเลยทั้งสองได้เข้าทำสัญญารับเหมาก่อสร้างแทน กับกำหนดราคาก่อสร้างต่าง ๆ ใหม่ในราคาที่เพิ่มสูงขึ้นโดยจำเลยที่ 2 ได้เบิกความเท็จในชั้นไต่สวนคำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาโดยฉุกเฉินในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11427/2523 ของศาลชั้นต้นระหว่างบริษัทยิบอินซอย จำกัด โจทก์ กับบริษัทปัญญามิตร จำกัดจำเลย เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์บริษัทยิบอินซอย จำกัด ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกือบทั้งหมด และจำเลยที่ 1 ยังได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13764/2523 เรื่อง ซื้อขายลิฟต์ โดยให้โจทก์ชำระราคาค่าลิฟต์หรือส่งมอบลิฟต์คืน โจทก์ได้ร้องขอให้ศาลยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11427/2523 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงได้ร้องขอต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13764/2523 ขอให้ศาลชั้นต้นใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษายึดและอายัดทรัพย์ของโจทก์อีก โดยจำเลยที่ 1 อ้างแสดงพยานหลักฐานเท็จและจำเลยที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จต่อศาลเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ไว้อีกทำให้โจทก์ไม่อาจดำเนินกิจการของโจทก์ได้ เป็นเหตุให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์และผู้ว่าจ้างโจทก์อื่นอีกหลายรายต้องเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ด้วย โจทก์ได้รับความเสียหายคือต้องเสียเงินที่ลงทุนไปในงานก่อสร้างต่าง ๆ จำนวน 345,560,203บาท ขาดกำไรจำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องใช้และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างกับทรัพย์สินอื่น ๆของโจทก์ซึ่งอยู่ในบริเวณก่อสร้างถูกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ผู้ว่าจ้างยึดไว้เป็นกรรมสิทธิ์ตามสัญญารวมเป็นเงิน 38,414,849 บาทกิจการรับเหมาก่อสร้างของโจทก์ต้องหยุดชะงัก โจทก์ขาดประโยชน์คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 11,000,000 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียงและความเชื่อถือในทางการค้าคิดเป็นเงินไม่ต่ำกว่า100,000,000 บาท ทรัพย์สินของโจทก์ที่ยึดอายัดไว้ได้รับความเสียหายเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท เงินค่าจ้างของโจทก์จำนวน3,000,000 บาท ที่จะได้รับจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ถูกจำเลยทั้งสองอายัดไว้ จำเลยทั้งสองต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันอายัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 225,000 บาทเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ในการก่อสร้างของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองยึดไว้ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้งาน ซึ่งโจทก์อาจให้ผู้อื่นเช่าใช้งานในอัตราค่าเช่ารวมวันละ 40,880 บาทนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองยึดถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 10,179,120 บาทจำเลยทั้งสองยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้ทำให้โจทก์ต้องเสียค่าจ้างและค่าเช่ารถอื่นวันละไม่ต่ำกว่า 800 บาท นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองยึดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 291,200 บาท โจทก์ต้องเสียค่าจ้างแรงงานและค่าชดเชยแก่คนงานของโจทก์ในการเลิกจ้าง เป็นเงินประมาณ 1,000,000บาท โจทก์ไม่อาจส่งมอบงานแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ตามกำหนด จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าปรับในอัตราวันละ 10,000 บาทนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2521 จนถึงวันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม2523 เป็นเงิน 7,690,000 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเงินค่าปรับที่โจทก์ต้องถูกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปรับเป็นรายวันวันละ 10,000 บาท อีกเป็นเงิน 7,690,000 บาทด้วยและโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานล่าช้า และไม่อาจส่งมอบงานแก่โจทก์ตามกำหนดเป็นเงินประมาณ 10,000,000 บาท รวมค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งสิ้นจำนวน 592,000,372 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 636,278,755.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 592,000,372 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ในการก่อสร้างในอัตราค่าเช่าวันละ 40,800 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบคืนแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าเช่ารถอื่นแทนรถยนต์ของโจทก์ที่จำเลยทั้งสองยึดไว้ในอัตราค่าเช่าวันละ 800 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเดือนละ 1,000,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของโจทก์คืนแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้ส่งมอบลิฟต์และอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ครบถ้วนถูกต้องตามสัญญาแล้ว และโจทก์ก็ได้ส่งมอบแก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และรับเงินค่าลิฟต์จำนวน 15,260,000 บาทไปแล้วจำเลยจึงไม่ผิดสัญญา การที่จำเลยทั้งสองร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นสิทธิอันชอบธรรมของจำเลย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์3,845,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ทำสัญญาซื้อขายลิฟต์กับจำเลยที่ 1ปรากฏตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3… เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม2523 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้บอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.37
พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรื่องผิดสัญญาและละเมิดในคดีเดียวกัน โจทก์ควรเสียค่าขึ้นศาลสูงสุดไม่เกิน200,000 บาทนั้น เห็นว่า ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่อง ค่าขึ้นศาล ไม่ได้บัญญัติว่า คดีหนึ่งเสียค่าขึ้นศาลไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้นในการพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาคำฟ้องเป็นเกณฑ์ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3) บัญญัติว่า คำฟ้องหมายความว่า กระบวนพิจารณาใด ๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล…ดังนี้ การเรียกค่าขึ้นศาลจึงต้องดูว่า คำฟ้องที่เสนอต่อศาลมีกี่ข้อหา แต่ละข้อหาเกี่ยวข้องกันหรือแยกจากกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาข้อหาหนึ่งและฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดอีกข้อหาหนึ่ง คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการเสนอข้อหาต่อศาล 2 ข้อหา และแยกออกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้ง 2 ข้อหา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาล 2 ข้อหาและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
ในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ถูกยึดและอายัดทรัพย์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13764/2523 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากการเบิกความเท็จของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองร้องเรียนโจทก์ต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ และจำเลยทั้งสองสมคบกับบริษัทยิบอินซอย จำกัด หน่วงเหนี่ยวการทำงานของโจทก์ทำให้โจทก์ทำงานไม่ทันตามกำหนดเวลาจนถูกมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์บอกเลิกสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ นั้นได้ความว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 13764/2523 ของศาลชั้นต้นและจำเลยที่ 2 ได้เบิกความในชั้นไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์โจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบลิฟต์และติดตั้งลิฟต์ให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายลิฟต์เรียบร้อยแล้ว โจทก์ได้รับเงินจากมหาวิทยาลัยในงานส่วนติดตั้งลิฟต์แล้ว แต่ไม่ยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้ร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เรียกโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปไกล่เกลี่ยในที่สุดโจทก์ตกลงจ่ายเงินค่าลิฟต์ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่ในที่สุดก็ไม่จ่าย เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ร้องเรียนโจทก์ต่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่จะกระทำได้โดยชอบธรรมหาเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ไม่”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 6,152,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share