แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการบริหารกิจการ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่งฯ จำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบของนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และออกข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้น ไม่มีอำนาจตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการของจำเลยที่ 1 ตามวาระแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือส่งให้โจทก์ลงนามในสัญญาที่ปรึกษาหากโจทก์ประสงค์จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการต่อไปโจทก์ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ลงนามเข้าเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ก่อน แต่โจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาตามที่จำเลยที่ 1 กำหนด จึงถือว่าโจทก์สละสิทธิที่จะทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อไป มีผลเป็นการลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นับแต่พ้นกำหนดดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์พ้นสภาพพนักงานเป็นโมฆะ ให้จำเลยดำเนินการให้โจทก์เป็นพนักงานระดับ วท.11 ต่อไปตามเดิม และบังคับจำเลยให้จ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายเงินเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาล เงินกองทุนสงเคราะห์ ค่าเสียหายให้แก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษหนึ่งฉบับและภาษาไทยอีกสามฉบับเป็นเวลาฉบับละสามวันติดต่อกัน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(กวท.) ตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 14 บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่เพียงวางนโยบายบริหารและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และรับผิดชอบซึ่งกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งรวมถึงการกำหนดจำนวนตำแหน่ง อัตราเงินเดือนและค่าจ้าง เงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างและออกข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการ กวท. ไม่มีกรณีจะบังคับให้จำเลยที่ 3 ถึง 12 ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึง 12 ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ แต่งตั้งเลื่อนขั้นเงินเดือนและการออกจากงาน พ.ศ. 2525 เอกสารหมาย จ.10ข้อ 25 กำหนดให้พนักงานออกจากงานเมื่อ 25.1 ตาย 25.2 ได้รับอนุญาตให้ลาออก 25.3 เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ (โดยให้นำข้อ 27มาบังคับใช้โดยอนุโลม) 25.4 ถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกตามข้อบังคับของสถาบัน 25.5 รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อบังคับดังกล่าวเพียงแต่กำหนดเหตุที่พนักงานออกจากงานโดยทั่วไปเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่พนักงานที่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการพ้นตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระได้ เมื่อพนักงานได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการแล้วพ้นจากตำแหน่งตามวาระย่อมถือว่าพนักงานผู้นั้นขาดสภาพการเป็นพนักงานไปในตัว เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระแล้ว โจทก์จึงขาดสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ดำเนินการให้โจทก์กลับเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อีก และไม่มีหน้าที่จ่ายเงินต่าง ๆ ตามฟ้องให้แก่โจทก์ ส่วนเงินสงเคราะห์ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พ.ศ. 2524 เอกสารหมาย จ.11 โจทก์มีสิทธิได้รับ แต่โจทก์ยังมิได้ยื่นคำร้องขอรับเงินดังกล่าว จึงไม่วินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องในเรื่องเงินสงเคราะห์ใหม่ภายในกำหนดอายุความโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 4.1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มีผู้ว่าการเป็นผู้แทนและบริหารกิจการมีคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยหรือเรียกย่อว่า “กวท.”ซึ่งประกอบด้วยประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ว่าการและผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 6 คน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3เป็นประธานกรรมการ กวท. จำเลยที่ 4 ถึงที่ 12 เป็นกรรมการ กวท.พิเคราะห์แล้ว ตามพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 26(1) (2) (5) กำหนดให้ผู้ว่าการมีอำนาจบริหารกิจการของสถาบันให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ และนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง รับผิดชอบในการจัดการและดำเนินการของสถาบันตามที่คณะกรรมการมอบหมาย บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดหรือตัดเงินเดือน ตลอดจนลงโทษพนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนด แต่ถ้าเป็นพนักงานชั้นรองผู้ว่าการ ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการหรือเทียบเท่า ต้องได้รับความชอบจากคณะกรรมการก่อน ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กวท.นั้นมาตรา 14(1) ถึง (6) บัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่วางนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไป และรับผิดชอบซึ่งกิจการของสถาบันอำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึงการกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือนค่าจ้าง และเงินอื่นของพนักงานและลูกจ้างและการออกข้อบังคับต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1เพียงผู้เดียวมีอำนาจในการบริหารกิจการ และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างทุกตำแหน่ง รวมตลอดถึงมีอำนาจในการบรรจุแต่งตั้ง ถอดถอน ลงโทษพนักงานและลูกจ้างทุกคน เพียงแต่พนักงานชั้นรองผู้ว่าการ หรือผู้อำนวยการฝ่าย ที่ปรึกษาผู้ชำนาญการหรือเทียบเท่าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนเท่านั้นจำเลยที่ 2 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3ถึงที่ 12 มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบวางนโยบายบริหารงานและควบคุมดูแลโดยทั่วไปและออกข้อบังคับต่าง ๆ เท่านั้น จำเลยที่ 3ถึงที่ 12 ไม่มีอำนาจตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ให้ร่วมรับผิดในข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์ข้อ 4.2 ว่า โจทก์ยังไม่ขาดจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเดิมโจทก์เป็นพนักงานของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งประเทศไทยโดยเริ่มทำงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2514 ต่อมาสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งประเทศไทยถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522ซึ่งบัญญัติให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน รวมทั้งพนักงานและลูกจ้างของสถาบันวิทยาศาสตร์ประยุกต์ แห่งประเทศไทยไปเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้รับโอนมาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการ ต่อมาโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งมีวาระคราวละ 5 ปี รวมสองคราวเมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการครบวาระที่สองในวันที่ 24 มีนาคม2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานมิได้แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ว่าการอีก ขณะพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการวาระที่สองโจทก์มีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ระดับวท.11 ขั้น 30,060บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งบริหารเลขที่ คบ. 33/106 เรื่องแต่งตั้งที่ปรึกษาประจำปีงบประมาณ 2533 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2533แต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาพิเศษของจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 32,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24มีนาคม 2533 เป็นต้นไป และได้ส่งบันทึกข้อตกลงการจ้างตามเอกสารหมายจ.28 ให้โจทก์ลงนาม โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมลงนามในบันทึกข้อตกลงการจ้าง อ้างว่าโจทก์ยังมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1ระดับ วท.11 อยู่ ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.30 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามข้อบังคับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดตำแหน่งการบรรจุ แต่งตั้งเลื่อนขั้นเงินเดือน และการออกจากงาน พ.ศ. 2525 เอกสารหมายจ.10 ข้อ 25 ได้กำหนดเรื่องที่พนักงานของจำเลยต้องออกจากงานไว้ว่าพนักงานออกจากงานเมื่อ 1. ตาย 2. ได้รับอนุมัติให้ลาออก 3. เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ 4. ถูกสั่งลงโทษให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกตามข้อบังคับของสถาบัน 5. รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการโดยครบวาระเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2533 มีปัญหาว่า เมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการโจทก์จะต้องขาดจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่า ตามข้อบังคับของจำเลยเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 4 กำหนดไว้ว่า “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของสถาบันรวมทั้งผู้ว่าการ ก่อนที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งรองผู้ว่าการ โจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ โจทก์ก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ระดับ วท.1 ขั้น30,060 บาท ตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยมาตรฐานกำหนดตำแหน่งของพนักงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 เอกสารหมาย จ.29จึงรับฟังได้ว่า ขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการโจทก์มีฐานะเป็น”พนักงาน” ของจำเลยที่ 1 ตามความหมายในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.10 ข้อ 4 การที่โจทก์จะต้องออกจากงานหรือพ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อบังคับดังกล่าว ข้อ 25 เช่นเดียวกับพนักงานทั่วไป เพราะข้อ 25ไม่ได้กำหนดยกเว้นไม่ใช้บังคับแก่พนักงานที่เป็นผู้ว่าการแต่อย่างใดการออกจากงานของโจทก์จึงต้องเกิดขึ้นจากการตายลาออกหรืออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือถูกสั่งลงโทษให้ออกปลดออกหรือไล่ออก หรือต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดตามที่กำหนดไว้เท่านั้นส่วนการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 24 นั้นย่อมมีผลเพียงแต่ทำให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลยที่ 1เท่านั้น หามีผลทำให้โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1ไม่ เมื่อโจทก์ยังเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างและค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าเมื่อโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตามวาระแล้ว จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งโจทก์เป็นที่ปรึกษาและได้แจ้งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตาม ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์อีกขอให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน2533 หากพ้นกำหนดจะถือว่าโจทก์สละสิทธิที่จะรับข้อเสนอดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.20/1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9โจทก์ก็ไม่ยอมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ได้เสนอจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษา ก็เพื่อหาตำแหน่งมารองรับฐานะการเป็นพนักงานของโจทก์ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ การแต่งตั้งให้โจทก์เป็นที่ปรึกษาตามบันทึกข้อตกลงการจ้างเอกสารหมาย จ.28 จำเลยที่ 1 ได้กำหนดระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปต่อเนื่องจากระยะเวลาที่โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการและจ่ายเงินเดือนให้โจทก์เดือนละ32,000 บาท อัตราเงินเดือนที่ปรึกษาสูงกว่าอัตราเงินเดือนสุดท้ายในตำแหน่งผู้ว่าการ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามมติของกวท. ตามรายงานการประชุมครั้งที่ 4/2523 เอกสารหมาย จ.15ที่ให้เงินเดือนประจำตัวของผู้ดำรงตำแหน่งนั้นยังคงอยู่และเลื่อนขั้นขึ้นตามปกติ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับการมีฐานะเป็นพนักงานของโจทก์ต่อไปและกำหนดการจ้างเป็นระยะเวลา 6 เดือนทั้ง ๆ ที่โจทก์ยังไม่ครบเกษียณอายุก็เนื่องจากจำเลยที่ 1ไม่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กำหนดเป็นพนักงานในตำแหน่งอื่นตามเอกสารหมาย จ.20/1 และ จ.31 หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามมติ กวท. อันเป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.20/1 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9สั่งให้โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษา หากโจทก์ประสงค์จะเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อรับเงินเดือนและสวัสดิการต่อไปโจทก์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ลงนามเข้าเป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ก่อน หลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดการจ้าง6 เดือน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ต่อสัญญาจ้างให้โจทก์ทำงานต่อไปจนครบเกษียณอายุก็ดี ระหว่างทำงานจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้สิทธิแก่โจทก์เทียบเท่าฐานะของพนักงานด้วยการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่จ่ายเงินสวัสดิการให้แก่โจทก์ก็ดี โจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ได้ แต่ปรากฏว่า โจทก์ไม่ยอมลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดจึงถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ต่อไป มีผลเป็นการลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นับแต่พ้นกำหนดวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไป โจทก์จึงพ้นจากสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2533 เป็นต้นไปตามข้อบังคับเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 25.2″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าจ้างค้างจ่าย เงินค่ารักษาพยาบาล และดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวโดยถือสิทธิที่เกิดขึ้นระหว่างอายุการทำงานในช่วงต้นเดือนเมษายน 2533 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2533 รวมทั้งจำนวนเงินกองทุนสงเคราะห์ของโจทก์ด้วย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.