คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย การใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ เมื่อปรากฏว่าจำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์เกือบ 20 คัน ในระยะเวลาต่อเนื่องติดต่อกัน พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสุจริตชนอันส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เป็นเรื่องร้ายแรง เมื่อพิเคราะห์ประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เห็นว่า บิดามารดาผู้ปกครองจำเลย รวมทั้งบุคคลใกล้ชิดจำเลย ไม่อยู่ในวิสัยที่จะอบรมดูแลสั่งสอนจำเลยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว และเมื่อความปรากฏต่อศาลว่าจำเลยถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ในระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นจึงต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวนออกจากระยะเวลาการฝึกอบรม ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นไม่หักวันควบคุมออกจากระยะเวลาฝึกอบรมเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 49,500 บาท แก่ผู้เสียหาย กับให้นับโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้ต่อกับโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 446/2557 และ 448/2557 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาร่วมกันรับของโจร และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการขาดประโยชน์ในการใช้รถจักรยานยนต์เป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การด้วยวาจาในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง แต่ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 10,000 บาท โดยจะนำมาวางต่อศาลชั้นต้นภายในสิ้นเดือนเมษายน 2558 ตามรายงานการประชุมครั้งที่ 1 ของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 21 เมษายน 2558
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 4 เดือน และขั้นสูง 8 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 10,000 บาท แก่ผู้เสียหายภายในวันที่ 30 เมษายน 2558 กับให้นับระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้ต่อกับระยะเวลาการฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 446/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 181/2558 ของศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 448/2557 ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษหรือระยะเวลาการฝึกอบรมให้ได้ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ และเมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งไปฝึกอบรมแล้วจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อ หากคดีถึงที่สุดจำเลยอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์ จำเลยยังไม่ถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรม ให้ส่งตัวไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนด 8 เดือน หรือถ้าจำเลยถูกควบคุมตัวฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่ครบกำหนดขั้นสูง 8 เดือน ให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนด 6 เดือน ยกฟ้องโจทก์ข้อหาร่วมกันลักทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดบุรีรัมย์อนุญาตให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันรับของโจรและยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้ร้องด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ 446/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 181/2558 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 448/2557 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 183/2558 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ ศาลฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยว่า เหตุกระทำผิดฐานรับของโจรเกิดระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2557 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง แต่ตามฎีกาของโจทก์ซึ่งจำเลยมิได้แก้ฎีกาคัดค้านเป็นอย่างอื่น โจทก์บรรยายฟ้องในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 448/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 183/2558 ของศาลชั้นต้นในข้อหารับของโจรว่า เหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน 2557 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2557 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 446/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 181/2558 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหารับของโจรว่า เหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม 2557 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2557 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ซึ่งการรับของโจรในคดีนี้เป็นคนละช่วงเวลากับการรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 183/2558 ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันที่ 28 มิถุนายน 2557 เวลา 0.30 นาฬิกา หลังจากจำเลยกับพวกถูกจับกุมในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรในคดีนี้แล้ว จำเลยกับพวกได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดรถจักรยานยนต์ได้รวม 16 คัน และชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์อีกเป็นจำนวนมากรวมแล้ว 33 รายการ ซึ่งรวมทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางในคดีนี้และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 181/2558 และ 183/2558 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจยึดของกลางทั้งสามจำนวนไว้ในคราวเดียวกัน และโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยรับทรัพย์ของกลางทั้งสามคดีนั้นไว้มาคราวเดียวกันหรือรับมาเมื่อใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอ ที่จะรับฟังหรือเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยรับของโจรคดีนี้ไว้ในวันเดียวกันและในคราวเดียวกันกับการรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 181/2558 และ 183/2558 ของศาลชั้นต้น ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้วินิจฉัยมา การกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้จึงมิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าวมาข้างต้น ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ยังไม่ระงับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจร และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิดฐานดังกล่าว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยอีก
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนในความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ในข้อนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์ของกลางของนายพล ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามคำฟ้องโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจร และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในส่วนค่าสินไหมทดแทน จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปว่า มีเหตุอันควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 และมีเหตุอันควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน เห็นว่า ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 181/2558 และ 183/2558 ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันรับของโจรรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนเกือบ 20 คัน ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องติดต่อกัน ซึ่งพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสุจริตชนอันส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม กรณีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจำเลยไม่คัดค้านว่า จำเลยออกจากโรงเรียนกลางคันขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียน ก. ในภาคเรียนที่ 1 เนื่องจากไม่ตั้งใจเรียน ขาดเรียน หนีเรียน ทางโรงเรียนเชิญผู้ปกครองพบและตักเตือนหลายครั้ง สอบไม่ผ่านหลายวิชา ไม่ไปสอบซ่อม จึงต้องออกจากโรงเรียน หาใช่เป็นเรื่องที่ครอบครัวจำเลยมีฐานะยากจน ผู้ปกครองไม่อาจส่งเสียให้จำเลยได้รับการศึกษาและจำเลยต้องเสียสละให้น้องได้เรียนดังที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่ นอกจากนี้ในการใช้เวลาว่างของจำเลยก็เป็นการออกไปนั่งจับกลุ่มพูดคุยและดื่มสุรากับเพื่อนเที่ยวเตร่ตามงานมหรสพต่าง ๆ กลับบ้านดึก ค้างคืนนอกบ้าน ทั้งลักษณะนิสัยของจำเลยดื้อรั้น ชอบโต้เถียงผู้ปกครอง เอาแต่ใจตนเอง ค่อนข้างเกียจคร้าน ขาดความรับผิดชอบและเห็นแก่ตัว เพื่อนที่จำเลยคบหามีนิสัยและความประพฤติที่ไม่เหมาะสมเช่นกัน ในส่วนบิดามารดาจำเลยก็ได้ตามดูแลพฤติกรรมของจำเลยบ้าง แต่บางครั้งติดตามได้ไม่ทั่วถึงเพราะต้องประกอบอาชีพและชราภาพมากแล้ว จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมาข้างต้น จึงเห็นว่า บิดามารดาผู้ปกครองจำเลยรวมทั้งบุคคลใกล้ชิดจำเลยไม่อยู่ในวิสัยที่จะอบรมดูแลสั่งสอนจำเลยให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่ใช้มาตรการการสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 และไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยจึงเป็นการเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นไม่หักวันควบคุมจำเลยในระหว่างสอบสวนออกจากระยะเวลาฝึกอบรม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ศาลหักจำนวนวันที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือเรือนจำหรือสถานที่อื่นใดที่ได้รับการมอบหมายให้ควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี” ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับให้ศาลต้องหักจำนวนวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี เมื่อคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดบุรีรัมย์ในระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นจึงต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างสอบสวนออกจากระยะเวลาฝึกอบรม ที่ศาลชั้นต้นไม่หักวันควบคุมออกจากระยะเวลาฝึกอบรมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากคดีถึงที่สุดเมื่อจำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วซึ่งจำเลยไม่อาจถูกควบคุมตัวไว้เพื่อฝึกอบรมได้ก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนด 8 เดือน กรณีถ้าจำเลยถูกควบคุมตัวไว้เพื่อฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่ครบกำหนด 8 เดือน ขั้นสูง ก็ให้ส่งไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนด 6 เดือนนั้น เห็นว่า หนักเกินไปเห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพการกระทำความผิดของจำเลย และการที่จำเลยบรรเทาผลร้ายโดยการชดใช้ค่าสินไหมดทดแทนเป็นเงิน 10,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายไปแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานรับของโจรทั้งส่วนอาญาและส่วนแพ่งให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรม มีกำหนดขั้นต่ำ 4 เดือน ขั้นสูง 8 เดือน โดยให้นับระยะเวลาฝึกอบรมคดีนี้ต่อจากระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 181/2558 ของศาลชั้นต้น แต่หากคดีถึงที่สุดเมื่อจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยยังมิได้ถูกควบคุมตัวเพื่อรับการฝึกอบรมเลย ก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนด 4 เดือน หรือถ้าจำเลยถูกควบคุมตัวไว้ฝึกอบรมแล้ว แต่ยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 4 เดือน ก็ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่เหลือจากการฝึกอบรมขั้นต่ำโดยให้หักวันควบคุมระหว่างสอบสวน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share