คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3905/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้บันทึกคำให้การของ ม. ในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยก็ตาม แต่คำให้การดังกล่าวก็มีลักษณะของการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งผู้ให้ถ้อยคำก็มิได้ให้ถ้อยคำในลักษณะของการปัดความรับผิดไปให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดด้วย อีกทั้งเมื่อพิจารณาคำให้การของ ม. ประกอบกันกับคำเบิกความของ ช. เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดที่ว่าได้ติดต่อขอบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ม. จากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ปรากฏว่าในช่วงก่อนวันเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของ ม. ติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยบ่อยครั้ง ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง ประกอบกับ ม. ได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกคำให้การ ต่อพนักงานสอบสวนโดยมี พ. ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นบุคคลที่ ม. ให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยว่าเป็นบุคคลที่ ม. ไว้วางใจให้ร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนั้นแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นพยานชั้นสองไม่ใช่พยานชั้นหนึ่ง แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การดังกล่าว ซึ่ง ม. ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยสมัครใจและเป็นการให้ถ้อยคำทันทีหลังจากถูกจับกุม รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็สอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลในอันที่จะเป็นเหตุให้มีการกระทำและสอดคล้องกันกับพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏ น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
ม. พยานโจทก์และจำเลยต่างก็เบิกความเจือสมกันว่าจำเลยกับ ม. หลังจากพบกันที่ร้านซ่อมรถยนต์แล้วจำเลยกับ ม. ก็พูดคุยกันในเชิงชู้สาวมาตลอด มีการลักลอบนัดพบกันที่รีสอร์ตและมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาวแสดงให้เห็นได้ว่าบุคคลทั้งสองมีความสนิทสนมชอบพอกัน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าก่อนและหลังเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่ ม. จะเบิกความปรักปรำให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าจำเลยเป็นผู้ที่ช่วยเหลือติดต่อหาคนมาฆ่าผู้ตาย รวมทั้งระบุว่าจำเลยเป็นผู้ที่พาคนร้ายมาพบที่รีสอร์ต ดังนั้นการที่ ม. เบิกความในทำนองว่าเคยพูดกับหลายๆ คนว่าหากใครช่วยจัดการฆ่าผู้ตายได้จะให้เงินนั้น ก็น่าจะเป็นคำเบิกความที่ต้องการเบี่ยงเบนให้ปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นว่าบุคคลที่ติดต่อผู้ที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่จำเลยก็ได้ หรือบุคคลที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่บุคคลที่จำเลยติดต่อมาซึ่งไม่ตรงกันกับที่ ม. เบิกความตอบโจทก์หรือที่เคยให้การในชั้นสอบสวน คำเบิกความของ ม. ดังกล่าวก็เป็นเพียงเพื่อช่วยจำเลยให้พ้นผิด ถ้อยคำที่ ม. เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 91, 288, 289
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 และ 52 (1) ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายเข้ามาในห้องนอนภายในบ้านของนายชาติชาย ผู้ตาย และใช้ไม้ท่อนเป็นอาวุธตีทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ต่อมานางมาคำหรือหน่อย ภริยาผู้ตายถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกับพวกฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 733/2555 ของศาลชั้นต้น นางมาคำให้การรับสารภาพ คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นางมาคำมีความผิดตามฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2023/2555
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ จำเลยฎีกาอ้างว่า บันทึกคำให้การของนางมาคำในชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่า คำเบิกความของนางมาคำในชั้นพิจารณาย่อมเป็นพยานที่น่าเชื่อถือและจากคำเบิกความของนางมาคำไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าจำเลยมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ไม่มีพยานปากใดยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับนางมาคำ ทั้งไม่มีพฤติกรรมใดๆ ของจำเลยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นช่วยพูดสนับสนุนหรือเป็นการกระทำใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะที่นางมาคำส่งมอบเงินค่าจ้างให้แก่คนร้าย หลังเกิดเหตุจำเลยก็ไม่ได้หลบหนี แต่จำเลยต้องไปหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวนั้น เห็นว่า แม้บันทึกคำให้การของนางมาคำในชั้นสอบสวนตาม จะเป็นพยานบอกเล่าและมีลักษณะเป็นคำให้การซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับจำเลยก็ตาม แต่คำให้การก็มีลักษณะของการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งผู้ให้ถ้อยคำก็มิได้ให้ถ้อยคำในลักษณะของการปัดความรับผิดไปให้จำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ยอมรับว่าตนเป็นผู้กระทำความผิดด้วย เมื่อพิจารณาคำให้การของนางมาคำประกอบกันกับคำเบิกความของพันตำรวจโทชูศักดิ์ เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งเป็นผู้สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดที่ว่าได้ติดต่อขอบันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางมาคำจากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ปรากฏว่าในช่วงก่อนวันเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางมาคำติดต่อกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยบ่อยครั้ง ซึ่งจำเลยก็เบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง ประกอบกับนางมาคำได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกคำให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีนายไพรัตน์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นบุคคลที่นางมาคำให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนด้วยว่าเป็นบุคคลที่นางมาคำไว้วางใจให้ร่วมฟังการสอบสวนด้วย ดังนั้นแม้บันทึกคำให้การจะเป็นพยานบอกเล่าหรือเป็นพยานชั้นสองไม่ใช่พยานชั้นหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของบันทึกคำให้การดังกล่าว ซึ่งนางมาคำได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนโดยสมัครใจและเป็นการให้ถ้อยคำทันทีหลังจากถูกจับกุม รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็สอดคล้องต้องกันสมเหตุสมผลในอันที่จะเป็นเหตุให้มีการกระทำและสอดคล้องกันกับพยานหลักฐานอื่นที่ปรากฏ น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้จึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) อ้างว่า นางมาคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าเคยพูดกับหลายๆ คนว่าหากใครช่วยจัดการฆ่าผู้ตายได้จะให้เงิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นการชัดแจ้งแล้วว่ายังมีอีกหลายคนที่รู้ว่านางมาคำต้องการหาคนฆ่าสามีของตน ทั้งนางมาคำก็มิได้เบิกความว่าจำเลยมีส่วนร่วมแต่ประการใดนั้น เห็นว่า ตามคำเบิกความของนางมาคำพยานโจทก์และจำเลยต่างก็เบิกความเจือสมกันว่าจำเลยกับนางมาคำหลังจากพบกันที่ร้านซ่อมรถยนต์แล้วจำเลยกับนางมาคำก็พูดคุยกันในเชิงชู้สาวมาตลอด มีการลักลอบนัดพบกันที่รีสอร์ทและมีความสัมพันธ์กันในทางชู้สาวแสดงให้เห็นได้ว่าบุคคลทั้งสองมีความสนิทสนมชอบพอกัน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่าก่อนและหลังเกิดเหตุบุคคลทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่นางมาคำจะเบิกความปรักปรำให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ที่ช่วยเหลือติดต่อหาคนมาฆ่าผู้ตาย รวมทั้งระบุว่าจำเลยเป็นผู้ที่พาคนร้ายมาพบที่รีสอร์ต ดังนั้นการที่นางมาคำเบิกความในทำนองว่าเคยพูดกับหลายๆ คนว่าหากใครช่วยจัดการฆ่าผู้ตายได้จะให้เงินนั้น ก็น่าจะเป็นคำเบิกความที่ต้องการเบี่ยงเบนให้ปรากฏข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นว่าบุคคลที่ติดต่อผู้ที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่จำเลยก็ได้ หรือบุคคลที่มาฆ่าผู้ตายอาจไม่ใช่บุคคลที่จำเลยติดต่อมาซึ่งไม่ตรงกันกับที่นางมาคำเบิกความตอบโจทก์หรือที่เคยให้การในชั้นสอบสวน คำเบิกความของนางมาคำก็เป็นเพียงเพื่อช่วยจำเลยให้พ้นผิด ถ้อยคำที่นางมาคำเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง และจำเลยฎีกาอ้างว่า หลังเกิดเหตุจำเลยไม่ได้หลบหนี แต่จำเลยต้องไปหางานทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวนั้น ก็ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนจำเลยได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนว่า หลังจากวันเกิดเหตุแล้วประมาณ 1 เดือน นางมาคำมาบอกว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยจึงได้หลบหนีไปอยู่ที่บ่อกุ้ง จังหวัดระยองได้ประมาณ 2 เดือน แล้วจึงไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัดสงขลาและถูกจับกุมที่จังหวัดสงขลา ซึ่งหากจำเลยมิได้จากถิ่นที่อยู่ไปเพื่อหลบหนีมิให้ถูกจับกุมแล้วจำเลยก็ไม่น่าที่จะให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนเช่นนั้น ข้ออ้างตามฎีกาข้อนี้ของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84 หรือ 84 ก็ดี รวมทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29, 30 เพราะไม่ปรากฏว่ามีผู้พิพากษาอีกนายหนึ่งได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีมาแต่ต้น แต่ได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วยนั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ระบุมาตรา 83 และมาตรา 84 ไว้ในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีจึงหาได้เป็นไปตามที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ในเรื่องของการนั่งพิจารณาคดีก็ปรากฏว่ามีผู้พิพากษา 2 นาย ร่วมนั่งพิจารณาคดีตั้งแต่ต้นนับแต่วันสอบคำให้การจำเลยจนกระทั่งสืบพยานโจทก์และจำเลยและผู้พิพากษาที่ร่วมนั่งพิจารณาได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษา ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share