แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรกและวรรคสาม, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนมีทะเบียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 1,000 บาท ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย และโดยใช้อาวุธปืน จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 15 ปี และปรับ 801,000 บาท บวกโทษจำคุก 9 เดือน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 16/2549 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกคดีนี้เป็นจำคุก 15 ปี 9 เดือน และปรับ 801,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกิน 1 ปี ได้ แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน ซองบรรจุกระสุนปืน ซองพกหนัง และรถยนต์ของกลาง
หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษา จำเลยไม่ได้ชำระค่าปรับ ศาลชั้นต้นจึงออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการยึดหรือายัดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระค่าปรับ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลย 6 รายการ ได้แก่ 1. เงินสด 166,000 บาท 2.สร้อยคอทองคำลายข้อกระดูกงู จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 122 กรัม 3. พระสมเด็จวัดเขาแก้วจังหวัดอ่างทองพร้อมกรอบทอง จำนวน 1 องค์ น้ำหนักประมาณ 20 กรัม 4. สร้อยข้อมือทองลายนาฬิกา จำนวน 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 76 กรัม 5. แหวนทองลายมังกร จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 4 กรัม และ 6. แหวนทองลายห่วง จำนวน 1 วง น้ำหนักประมาณ 16 กรัม เพื่อนำออกขายทอดตลาด
จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 ในส่วนโทษค่าปรับและกักขัง คงเหลือเฉพาะโทษจำคุก 15 ปี 9 เดือน ก่อนหน้านี้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ยึดทรัพย์สินของจำเลยไว้รวม 7 รายการ ต่อมามีมติให้คืนทรัพย์สินดังกล่าวตามคำร้องขอคืนทรัพย์ของจำเลย เนื่องจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตามคดีหมายเลขแดงที่ 17560/2558 ให้ยกคำร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินและให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของ แต่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมิได้ส่งมอบทรัพย์สินคืนจำเลยทั้งหมดกลับส่งมอบทรัพย์สินจำนวน 6 รายการ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับโทษปรับซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดอ่างทองเพิกถอนหมายบังคับคดีการบังคับโทษค่าปรับ และคืนทรัพย์สินแก่จำเลย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า แม้จำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามคำร้องจริง แต่เกี่ยวกับโทษปรับนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดียังมีอำนาจบังคับคดียึดทรัพย์ชำระค่าปรับได้ จำเลยจึงไม่มีอำนาจขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยรวม 6 รายการ เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินชำระค่าปรับชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับการอภัยโทษในส่วนของโทษค่าปรับและกักขังนั้น ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป
(1) ผู้ต้องกักขัง
(2) ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
(3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
กรณีผู้ต้องกักขังตามวรรคหนึ่ง (1) ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด และยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ให้ผู้ต้องกักขังนั้นได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไปในส่วนของโทษกักขังแทนโทษจำคุกหรือในส่วนของการกักขังแทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี” บทบัญญัติของกฎหมายจึงเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาดในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมโดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของจำเลยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน