คำสั่งคำร้องที่ 1456/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาไว้บัดนี้จำเลยที่ 2 ไม่ติดใจที่จะฎีกาต่อไปจึงขอถอนฎีกา (น่าจะเป็นขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา) โปรดอนุญาต
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้วหรือไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4,5,6,7,11,47,48,69,73,74,74 ทวิ,74 จัตวา,75 ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83,91 ฯลฯ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4,5,6,14,31 ฯลฯ เรียงกระทงลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง จำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 60,000 บาท ฐานมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 40,000 บาท ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 40,000 บาท ฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 4 ปี ปรับคนละ 40,000 บาท รวม 4 กระทง จำคุกคนละ 16 ปี ปรับคนละ 180,000 บาท จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 8 ปีและปรับคนละ 90,000 บาท โทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 2 ปีพิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ แล้วโทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสี่ไว้มีกำหนด 3 ปี ฯลฯ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ (อันดับ 51)
จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา (อันดับ 52)
ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องดังกล่าว (อันดับ 59)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แล้วจำเลยที่ 2 มายื่นคำร้องขอถอนฎีกา จึงพอแปลได้ว่าจำเลยที่ 2 ประสงค์ขอถอนคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกานั่นเองจึงอนุญาตให้ถอนได้

Share