แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 10,955,424.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี ของต้นเงิน 6,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 137423 และ 137424 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 3,632,200.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี จากต้นเงิน 3,182,200.87 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี จากต้นเงิน 450,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าหากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากบริษัทธารวรา จำกัด และหรือจากจำเลยที่ 1 ในมูลหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมเงิน ตามคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพียงใดให้นำหักออกจากจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดไถ่ถอนจำนองเสียก่อน ถ้าจำเลยที่ 3 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 4 ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 137423 และ 137424 พร้อมสิ่งปลูกสร้างนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 3 ชดใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยโจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์รับจำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 137423 และ 137424 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 26 ตุลาคม 2538 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1 โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ต่อจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 8,217,981.88 บาท จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง โจทก์นำจำเลยที่ 2 ยึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง ออกขายทอดตลาด แต่จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อจำเลยที่ 2 โดยแจ้งว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทรัพย์จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กองล้มละลาย 1 กรมบังคับคดี แจ้งคำสั่งให้โจทก์ไปฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามกฎหมาย จากนั้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาท 2 แปลง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ยังไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ไม่อาจฟ้องบังคับจำนองได้
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในประการแรกมีว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ประเด็นนี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับโอนทรัพย์พิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยที่ไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยมีการโอนทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 มายังจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 มิใช่ผู้รับโอนทรัพย์พิพาทจากจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นได้ว่าเหตุใดจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่อาจเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะอะไร เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 3 โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ยึดทรัพย์จำนองซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองตามกฎหมาย ครั้นวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 4 เพื่อบังคับจำนองแก่ทรัพย์จำนองซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 แต่ภายหลัง ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสี่ และฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยทั้งสี่ โดยขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระหนี้จำนอง หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ตามคำฟ้องยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับจำนองใช้สิทธิเรียกร้องในการบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 โดยฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองที่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ออกให้ขายทอดตลาด เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง คำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ที่อ้างเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ธ.2016/2547 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.2016/2547 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากก่อนฟ้องโจทก์มิได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกับโจทก์ แม้คดีนี้โจทก์ได้แก้ไขความบกพร่องของโจทก์ตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ดังกล่าว โดยก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 แต่ข้อวินิจฉัยของศาลฎีกาอีกส่วนหนึ่งคือ โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 เป็นประเด็นที่ศาลในคดีนี้ต้องวินิจฉัยซ้ำอีก โดยอาศัยเหตุเดิมอันเป็นเหตุเดียวกันนั่นเอง แต่ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 เพียงแต่กล่าวอ้างว่า คดีนี้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 แล้วกลับมาฟ้องบังคับจำนองกับจำเลยที่ 3 ถือเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องของโจทก์ในเรื่องการบอกกล่าวบังคับจำนอง ซึ่งโจทก์สามารถทำให้ถูกต้องได้ในคดีเดิมอยู่แล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ธ.2016/2547 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาว่า คดีนี้ต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันในคดีหมายเลขแดงที่ ธ.2016/2547 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 3 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ เกี่ยวข้องกับโจทก์ ย่อมเป็นไปโดยมุ่งประสงค์ที่จะบิดเบือนให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ ธ.2016/2547 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยที่ 3 มิได้หยิบยกข้อเท็จจริงในส่วนนี้ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์แต่ประการใด ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ประเด็นที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ในการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองคือ จำเลยที่ 1 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย จำเลยที่ 1 ย่อมหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้จำนองต่อโจทก์ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ภาระหนี้จำนองย่อมระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 744 (3) นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลายแล้ว มีผลให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ตามมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เช่นเดียวกัน ซึ่งหมายรวมถึงหนี้ที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้ด้วย และมูลหนี้จำนองของโจทก์คดีนี้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ใดต่อโจทก์ การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้ว เนื่องจากทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างเป็นบุคคลล้มละลาย และมูลหนี้จำนองของโจทก์เกิดขึ้นก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์ โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และโจทก์เคยขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองโดยนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง หากโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียยังคงประสงค์จะให้มีการบังคับจำนองต่อไป โดยถือว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 โจทก์จะต้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 146 แต่โจทก์ก็หาได้ปฏิบัติไม่ ถือว่าโจทก์ยอมรับผลของคำสั่งที่ปฏิเสธไม่บังคับจำนองด้วยการนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ ดังนี้ สิทธิของโจทก์ในการบังคับจำนองแก่ทรัพย์พิพาทย่อมสิ้นสุดลงตั้งแต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์พิพาทและโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยหาจำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้ ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ผู้รับจำนองหรือไม่ ประเด็นนี้จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มีบุคคลสิทธิเหนือจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาจำนองกับโจทก์ อันก่อให้เกิดหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รับผิดต่อโจทก์ในการชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง จำเลยที่ 3 มิได้มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปโต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ นอกจากนี้โจทก์มิใช่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์พิพาทโดยสุจริต ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 3 และหากโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอาแก่จำเลยที่ 3 ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท โจทก์ก็มีเพียงทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนองเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วว่า การจดทะเบียนโอนขายทรัพย์พิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 1 เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้ แม้จำเลยที่ 3 จะกล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้มิได้กระทำการโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง เนื่องจากโจทก์ทำสัญญาจำนองกับจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันหนี้ของบริษัทธารวรา จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทดังกล่าว โดยที่จำเลยที่ 1 และบริษัทธารวรา จำกัด ไม่เคยเป็นลูกค้าของโจทก์มาก่อน และไม่มีประวัติทางการเงินหรือทางธุรกิจแต่อย่างใด โดยเฉพาะบริษัทธารวรา จำกัด เพิ่งก่อตั้งในเดือนมีนาคม 2533 ยังไม่ได้ดำเนินกิจการอันใด แต่มาขอกู้เงินโจทก์และได้รับอนุมัติในเวลาอันรวดเร็วในเดือนพฤษภาคม 2533 ได้วงเงินสูงถึง 6,000,000 บาท เกินกว่ามูลค่าของทรัพย์พิพาทที่นำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ โดยโจทก์ไม่เคยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจดูทรัพย์พิพาท แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่ชัดเจนมาสนับสนุน ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติได้ดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกาว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้มิได้กระทำการโดยสุจริต ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ผู้รับจำนอง ย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยต่อไปได้จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่า 5 ปี เพราะโจทก์เรียกดอกเบี้ยมาในคดีนี้นับถึงวันฟ้องก็เป็นเวลา 5 ปี แล้ว นับจากวันฟ้องไปก็เป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยไว้ว่า ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ซึ่งหมายความว่าผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี เท่านั้น ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 3,632,200.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี จากต้นเงิน 3,182,200.87 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี จากต้นเงิน 450,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ย่อมเป็นการบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ซึ่งไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 3,632,200.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.25 ต่อปี จากต้นเงิน 3,182,200.87 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี จากต้นเงิน 450,000 บาท ที่ค้างชำระเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2553 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ