แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งแต่เพียงว่าสำเนาให้โจทก์ว่าจะคัดค้านหรือไม่ โดยไม่ได้สั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยพอแปลได้ความว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว
โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา ดังนี้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ กรณีไม่ใช่เรื่องโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยทำสัญญาซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ในราคา 759,700 บาท ตกลงแบ่งชำระราคาเป็น 3 งวด งวดที่ 1 ชำระในวันทำสัญญาจำนวน 189,925 บาท งวดที่ 2 ชำระจำนวน 265,895 บาท ภายใน 20 วัน หลังจากทดลองเดินเครื่องใช้งาน งวดที่ 3 ชำระจำนวน 303,880 บาท ภายใน 20 วัน หลังจากใช้งานจริงโดยมีเงื่อนไขในสัญญาว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา ปรากฏว่าหลังจากการทำสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยชำระราคาค่าเครื่องจักรเพียง 2 งวด วันที่ 7 พฤศจิกายน 2544 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยขอประนอมหนี้และขอลดยอดหนี้จากจำนวน 303,880 บาท ลงเหลือ 200,000 บาท โดยเสนอให้โจทก์ใช้บริการของจำเลยแทนการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2545 จำเลยมีหนังสือติดต่อให้โจทก์ใช้บริการห้องจัดสัมมนาของจำเลย แต่โจทก์ปฏิเสธและมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนทรัพย์แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 303,880 บาท จำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วแต่กลับเพิกเฉยขอให้จำเลยคืนทรัพย์ตามฟ้องในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 303,880 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ไปจากโจทก์จริงและได้ชำระเงินตามสัญญาแล้ว 2 งวด ปรากฏว่าเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนไม่สามารถใช้งานได้ จำเลยแจ้งโจทก์ให้ส่งพนักงานมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แต่โจทก์เพิกเฉยถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ชำระเงินงวดสุดท้าย โจทก์แจ้งว่าต้องการตัดชำระหนี้ทางการบัญชีประจำปี จำเลยจึงจัดทำหนังสือขอประนอมหนี้และขอลดยอดหนี้ส่งให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ติดต่อขอใช้โรงแรมจำเลยเพื่อจัดประชุมสัมมนา จำเลยจึงจัดทำหนังสือเสนอราคาการใช้สถานที่ถึงโจทก์ตามปกติทางการค้า ไม่ได้เป็นการเสนอราคาเพื่อตัดชำระหนี้ระหว่างกันแต่อย่างใด คดีโจทก์ขาดอายุความตามกฎหมาย เนื่องจากโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 และได้มีการชำระเงินงวดที่ 1 แล้ว ทำให้สัญญามีผลใช้บังคับในวันดังกล่าวแม้จะถือว่าจำเลยขอประนอมหนี้ในวันที่ 7 พฤศติกายน 2544 ก็ตามแต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 เกินเวลา 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาซื้อขายหรือวันทำการประนอมหนี้กัน ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวน 303,380 บาท (ที่ถูก 303,880) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ จำเลยขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาซึ่งศาลชั้นต้นต้องพิจารณาว่าเป็นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและสั่งอนุญาตให้ผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเพียงว่า สำเนาให้โจทก์ว่าจะคัดค้านหรือไม่ และสั่งในอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดรับอุทธรณ์ของจำเลย ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยพอแปลได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยต่อไป ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2538 จำเลยทำสัญญาซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์จากโจทก์ในราคา 759,700 บาท โดยตกลงแบ่งชำระราคาเป็น 3 งวด ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยชำระราคาค่าเครื่องจักรเพียง 2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระราคาค่าเครื่องจักรในงวดที่ 3 จำนวน 303,880 บาท ซึ่งถึงกำหนดชำระเงินประมาณเดือนเมษายน 2539 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่ามูลหนี้คดีนี้เกิดจากการซื้อขายสินค้าระหว่างกัน จำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาค่าเครื่องจักร โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบไปแล้วจากจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2548 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จำเลยผิดสัญญา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเงื่อนไขว่าหากการชำระเงินตามสัญญายังไม่เสร็จสิ้น เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ระบุในสัญญายังคงเป็นสมบัติของโจทก์ โจทก์มีสิทธินำกลับในสภาพสมบูรณ์ได้ทุกเวลา ดังนี้ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อจำเลยผิดสัญญาซื้อขาย โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเครื่องจักรผลิตน้ำร้อนพร้อมอุปกรณ์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ กรณีไม่ใช่เรื่องโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟ้องไม่ขึ้น”
พิพากษายืน