คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลม 1 เล่ม และไม้ปลายแหลม 1 อัน เป็นอาวุธแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นความผิดตาม ป.อ. 297 (8) ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายจะเกิดจากไม้ปลายแหลมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา และโจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลม 1 เล่ม และไม้ปลายแหลม 1 อัน แทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสมเกียรติผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) จำคุก 3 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยใช้มีดปลายแหลมและไม้ปลายแหลมแทงนายสมเกียรติผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่า บาดแผลของผู้เสียหายเกิดจากการแทงโดยไม้ปลายแหลมหรือไม่ และโจทก์ไม่ได้ระบุอนุมาตราของมาตรา 297 ว่าจำเลยกระทำความผิดอนุมาตราใด เป็นฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิดและทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้ นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้มีดปลายแหลม 1 เล่ม และไม้ปลายแหลม 1 อัน เป็นอาวุธแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายจะเกิดจากไม้ปลายแหลมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาและโจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และ (6) แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นนักเลงอันธพาลและไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีและไม่ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยไม่ได้สำนึกในการกระทำความผิด แม้จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวก็ไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ก่อนลดโทษหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งชาติ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share