คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1722/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันที่ ส. ผู้จัดการไปทำอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 4 แม้ ส. เป็นภรรยาจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาค้ำประกันเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของ ส. ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับผิดตามสัญญา จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างจำเลยที่ 4 ต่อจาก ส. ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงิน 205,877 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 5 โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2520 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาขายลดเช็คและตั๋วสัญญาใช้เงินไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 300,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6 และ จ.7 ขณะทำสัญญาค้ำประกันนั้นจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนางสาวสุภรตันติวัฒน์พาณิชย์เป็นผู้จัดการ ต่อมาจำเลยที่ 5 จึงมาเป็นผู้จัดการแทนนางสาวสุภร เช็คที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดไว้แก่โจทก์นั้นเรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ 2 ฉบับคือเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรวงษ์ เลขที่ 1959712 จำนวนเงิน 185,877 บาท เลขที่ 1959716 จำนวนเงิน20,000 บาท โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งห้าให้ชำระเงินตามสัญญาแล้วจำเลยทั้งห้าไม่ชำระ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 4 และที่ 5 จะต้องชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการทำสัญญาค้ำประกัน การที่จำเลยที่ 4 ซึ่งขณะนั้นมีนางสาวสุภร ตันติวัฒน์พาณิชย์ เป็นผู้จัดการ ไปทำสัญญาค้ำประกันรายนี้เป็นการกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 4 สัญญาค้ำประกันรายนี้ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 69 แม้จะได้ความว่านางสาวสุภรเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของนางสาวสุภรที่จะต้องผูกพันในผลแห่งสัญญาค้ำประกันตามกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากบุคคลธรรมดา เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการห้างจำเลยที่ 4 ต่อจากนางสาวสุภรก็ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันรายนี้ด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share