คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1812/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระพุทธรูปที่จำเลยลักไปหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว ตั้งไว้ที่มุมโต๊ะบูชาในห้องของหอสวดมนต์ ถือไม่ได้ว่าเป็นทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก แม้จำเลยจะลักพระพุทธรูปนี้ในวัดก็ ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา พระราชบัญญัติล้างมลทินได้ใช้ บังคับ โดยพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่าบรรดาผู้ต้องโทษและได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้ บังคับ เป็นผู้มิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นๆ ดังนี้ เมื่อความผิดที่ศาลจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้ เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ แต่สำหรับโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ นำมาบวกแก่โทษของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักนาฬิกา 1 เรือน พระพุทธรูปสุโขทัยปางสมาธิ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน 1 องค์ ของวัดคณิกาผล โดยจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนติดตัวและใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะ จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 6 เดือน ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครอง และเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดฐานเสพกัญชาให้จำคุก 15 วัน รอการลงโทษไว้ จำเลยกระทำความผิดนี้ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(9), 335 ทวิ วรรคสอง, 335 ทวิ, 83, 58 และ 92 ฯลฯ เพิ่มโทษและบวกโทษจำเลยตามกฎหมาย ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(9), 335 ทวิ วรรคสอง, 336 ทวิ ฯลฯ จำคุก 12 ปี เพิ่มโทษตามมาตรา 92 หนึ่งในสาม เป็นจำคุก 16 ปี ให้บวกโทษ จำคุก 15 วันที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ คงจำคุก 16 ปี 15 วัน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระพุทธรูปบูชาตามฟ้องเป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้ว ตั้งไว้ที่มุมโต๊ะหมู่บุชาในห้องชั้นบนของหอสวดมนต์ มีครอบแก้วครอบไว้ จึงเป็นพระพุทธรูปธรรมดาเช่นพระพุทธรูปบูชาทั่วไป ถือไม่ได้ว่า เป็นทรัพย์อันเป็นที่สักการะของประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ วรรคหนึ่ง เมื่อพระพุทธรูปบูชาตามฟ้องมิใช่ทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชนแล้ว แม้จำเลยกับพวกจะลักพระพุทธรูปบูชานั้นในวัด การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรคสอง

คำขอของโจทก์ให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น ระหว่างศาลฎีกาพิจารณาคดีนี้พระราชบัญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526 ได้ใช้บังคับ มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 6 เมษายน 2535 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษใความผิดนั้น ๆ ปรากฏว่าความผิดที่ศาลพิพากษาจำคุกจำเลย 6 เดือน ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุให้เพิ่มโทษจำเลยนั้น จำเลยได้กระทำและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ 12 ตุลาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ถือได้ว่าจำเลยมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1)(7) และ (9) ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ ฯลฯ จำคุก 7 ปี 6 เดือน นำโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้มาบวกตามมาตรา 58 คงจำคุกจำเลย 7 ปี 6 เดือน 15 วัน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

Share